ข้ามไปเนื้อหา

ราชวงศ์ทิวเดอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราชวงศ์ทิวเดอร์
พระราชอิสริยยศ
ปกครอง
ประมุขพระองค์แรกเฮนรีที่ 7
ประมุขพระองค์สุดท้ายเอลิซาเบธที่ 1
สถาปนา22 สิงหาคม ค.ศ. 1485
สิ้นสุด24 มีนาคม ค.ศ. 1603

ราชวงศ์ทิวเดอร์[1] หรือ ราชวงศ์ทูเดอร์[2] (อังกฤษ: House of Tudor) เป็นราชวงศ์ซึ่งมีเชื้อสายระหว่างเวลส์กับฝรั่งเศส และครองราชบัลลังก์อังกฤษ[3] โดยสืบเชื้อสายมาจากตระกูลทิวเดอส์แห่งเพนมีนิดด์ (Tudors of Penmynydd) กับกาตรีนแห่งฝรั่งเศส (Catherine de France) ราชวงศ์ทิวเดอร์เป็นใหญ่ในราชอาณาจักรอังกฤษและเมืองขึ้นซึ่งรวมถึงเวลส์อันเป็นดินแดนบรรพบุรุษและลอร์ดชิปแห่งไอร์แลนด์ซึ่งภายหลังกลายเป็นราชอาณาจักรไอร์แลนด์ โดยสืบทอดอำนาจจากราชวงศ์แพลนแทเจอนิต (Plantagenet) และมีผู้สืบทอดอำนาจต่อ คือ ราชวงศ์สทิวเวิร์ต (Stuart)

ในช่วงตั้งแต่ ค.ศ. 1485 ถึง 1603 ราชวงศ์ทิวเดอร์มีกษัตริย์หกพระองค์ คือ เฮนรีที่ 7 เฮนรีที่ 8 เอ็ดเวิร์ดที่ 6 เลดีเจน เกรย์ แมรีที่ 1 และเอลิซาเบธที่ 1 โดยพระองค์แรก คือ เฮนรีที่ 7 นั้นสืบเชื้อสายทางพระมารดามาจากราชวงศ์แลงแคสเตอร์ (Lancaster) ซึ่งเป็นสายย่อยของราชวงศ์แพลนแทเจอนิต และขึ้นสู่อำนาจหลังเกิดสงครามดอกกุหลาบ (Wars of the Roses) ในช่วง ค.ศ. 1455–1487 ซึ่งทำให้สายแลงแคสเตอร์หมดสิ้นทายาทในสายบุรุษ เฮนรีที่ 7 จึงได้อาศัยเชื้อสายฝั่งมารดาขึ้นเป็นท้าชิงราชบัลลังก์และได้ราชบัลลังก์ไปด้วยสิทธิของผู้ชนะ (right of conquest) หลังจากมีชัยในยุทธการที่บอสเวิร์ธฟิลด์ (Battle of Bosworth Field) เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1485 จากนั้น เฮนรีที่ 7 สร้างความมั่นคงให้แก่สถานะของพระองค์ด้วยการเสกสมรสกับเอลิซาเบธแห่งยอร์ก (Elizabeth of York) พระธิดาของเอ็ดเวิร์ดที่ 4 แห่งราชวงศ์ยอร์ก (York) ซึ่งเป็นคู่แข่งของราชวงศ์แพลนแทเจอนิต จึงเป็นอันหลอมรวมในเชิงสัญลักษณ์ให้กลุ่มต่าง ๆ ที่ชิงอำนาจกันเข้าเป็นราชวงศ์ใหม่ คือ ทิวเดอร์

ราชวงศ์ทิวเดอร์ขยายอำนาจออกไปพ้นดินแดนที่เป็นประเทศอังกฤษในปัจจุบัน โดยสามารถผนวกอังกฤษเข้ากับราชรัฐเวลส์ใน ค.ศ. 1542 ด้วยการออกกฎหมายในพระราชบัญญัติเวลส์ ค.ศ. 1535 และ 1542 (Laws in Wales Acts 1535 and 1542) ทั้งยังสามารถยืนยันอำนาจของอังกฤษเหนืออาณาจักรไอร์แลนด์ด้วยการออกพระราชบัญญัติพระมหากษัตริย์ไอร์แลนด์ ค.ศ. 1542 (Crown of Ireland Act 1542) ราชวงศ์ทิวเดอร์ยังอ้างสิทธิของอังกฤษเหนือราชบัลลังก์แห่งราชอาณาจักรฝรั่งเศส ถึงแม้ว่าจะไม่มีกษัตริย์ทิวเดอร์พระองค์ใดที่ทำให้ข้ออ้างนั้นเป็นจริงได้ก็ตาม ซึ่งรวมถึงเฮนรีที่ 8 ผู้ทรงเปิดศึกกับฝรั่งเศสเพื่อชิงบัลลังก์ฝรั่งเศส แต่เมื่อสิ้นเฮนรีที่ 8 แล้ว แมรีที่ 1 ผู้เป็นพระธิดา ก็สิ้นอำนาจในดินแดนฝรั่งเศสทั้งหมดเป็นการถาวรเมื่อเมืองกาเล (Calais) แตกใน ค.ศ. 1558

โดยรวมแล้ว กษัตริย์ทิวเดอร์ครองดินแดนได้เพียง 100 ปีกว่า และเฮนรีที่ 8 เป็นพระโอรสพระองค์เดียวของเฮนรีที่ 7 ที่มีพระชนม์อยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่ ปัญหาหลักในทางการเมืองของยุคทิวเดอร์ คือ การสืบทอดราชบัลลังก์ (ซึ่งรวมถึงสิทธิในการเสกสมรสและเป็นทายาทของราชสตรี) และการปฏิรูปอังกฤษ (English Restoration) ในทางศาสนา ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ในกาลข้างหน้า ครั้นเอลิซาเบธที่ 1 สิ้นพระชนม์โดยไร้ราชบุตร ราชวงศ์สทิวเวิร์ตจากสกอตแลนด์จึงได้เข้ามาสืบทอดอำนาจแทนผ่านการหลอมรวมราชบัลลังก์ (Union of the Crowns) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1603 กษัตริย์สทิวเวิร์ตพระองค์แรกที่ได้เสวยราชย์ในประเทศอังกฤษ คือ เจมส์ที่ 6 และที่ 1 ผู้สืบเชื้อสายมาจากมาร์เกอริต ทิวเดอร์ (Margaret Tudor) พระธิดาของเฮนรีที่ 8 ที่เสกสมรสกับเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์ตามความในสนธิสัญญาว่าด้วยสันติภาพชั่วนิรันดร์ (Treaty of Perpetual Peace) เมื่อ ค.ศ. 1502

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Tudor". Lexicon Powered by Oxford. 2022. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-22. สืบค้นเมื่อ 2022-02-22.
  2. "Tudor". Dictionary.com Unabridged. 2022. สืบค้นเมื่อ 2022-02-22.
  3. https://www.britannica.com/EBchecked/topic/608456/House-of-Tudor House of Tudor. 2010. In Encyclopædia Britannica. Retrieved 6 March 2010, from Encyclopædia Britannica Online