ข้ามไปเนื้อหา

มุฮัมมัด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นบีมูฮัมมัด)
มุฮัมมัด
مُحَمَّد
"มุฮัมมัด ศาสนทูตของอัลลอฮ์"
ภาพถ่ายที่ประตูมัสยิดอันนะบะวีในเมืองมะดีนะฮ์
ชื่ออื่น
ส่วนบุคคล
เกิดป. ค.ศ. 570 (53 ปีก่อน ฮ.ศ.)[1]
มักกะฮ์ ฮิญาซ อาระเบีย
เสียชีวิต8 มิถุนายน ค.ศ. 632 (ฮ.ศ. 11; 61–62 ปี)
มะดีนะฮ์ ฮิญาซ อาระเบีย
ที่ฝังศพ
โดมเขียวที่มัสยิดอันนะบะวี มะดีนะฮ์ อาระเบีย

24°28′03″N 39°36′41″E / 24.46750°N 39.61139°E / 24.46750; 39.61139 (โดมเขียว)
คู่สมรสดู ภรรยาของมุฮัมมัด
บุตรดู ลูกของมุฮัมมัด
บุพการี
รู้จักจากผู้ก่อตั้งศาสนาอิสลาม
ชื่ออื่น
ญาติ

มุฮัมมัด[2][a] (อาหรับ: مُحَمَّد, อักษรโรมัน: Muḥammad; ป. ค.ศ. 570 – 8 มิถุนายน ค.ศ. 632)[b] เป็นผู้นำทางศาสนา สังคม และการเมืองชาวอาหรับ และผู้ก่อตั้งศาสนาอิสลาม[c] หลักคำสอนอิสลามระบุว่าท่านเป็นศาสดาที่ได้รับพระวจนะเพื่อสั่งสอนและยืนยันความเป็นเอกภาพที่ถูกสอนมาตั้งแต่อาดัม, อิบรอฮีม, มูซา, อีซา และนบีท่านอื่น[3][4][5] เชื่อกันว่าท่านเป็นคอตะมุนนะบียีน โดยมีอัลกุรอานและหลักคำสอนกับหลักปฏิบัติเป็นรากฐานในความเชื่อของศาสนาอิสลาม

มุฮัมมัดถือกำเนิดที่มักกะฮ์เมื่อประมาณ ค.ศ. 570[1] โดยเป็นบุตรของอับดุลลอฮ์ อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบกับอามินะฮ์ บินต์ วะฮบ์ อับดุลลอฮ์ บิดาผู้เป็นบุตรของอับดุลมุฏฏอลิบ หัวหน้าเผ่ากุร็อยช์ เสียชีวิตไม่กี่เดือนก่อนที่มุฮัมมัดถือกำเนิด ส่วนอามินะฮ์เสียชีวิตตอนท่านอายุ 6 ขวบ ทำให้ท่านกลายเป็นเด็กกำพร้า[6] ท่าได้รับเลี้ยงจากอับดุลมุฏฏอลิบ ปู่ของท่าน และอะบูฏอลิบ ลุงฝ่ายพ่อ[7] ในช่วงปีหลัง ๆ ท่านเก็บตัวอยู่ในถ้ำบนภูเขาฮิรออ์เป็นเวลาหลายคืน จนกระทั่งเมื่อประมาณ ค.ศ. 610 ตอนอายุ 40 ปี มีรายงานว่าท่านพบกับทูตสวรรค์ญิบรีลในถ้ำ[1] และได้รับโองการแรกจากพระเจ้า ต่อมาใน ค.ศ. 613[8] มุฮัมมัดจึงเริ่มเผยแผ่คำสอนอย่างเปิดเผย[9] โดยประกาศว่า "พระเจ้ามีเพียงองค์เดียว" และ "การจำนน" (อิสลาม) ต่อพระเจ้า (อัลลอฮ์) อย่างสมบูรณ์คือวิถีชีวิตที่ถูกต้อง (ดีน)[10] และท่านเป็นศาสดาและศาสนทูตของอัลลอฮ์คล้ายกับนบีในศาสนาอิสลามท่านอื่น ๆ[4][11][12]

ในช่วงแรก ผู้ติดตามของมุฮัมมัดมีจำนวนน้อย และประสบกับการกดขี่จากชาวมักกะฮ์ที่นับถือพระเจ้าหลายองค์เป็นเวลา 13 ปี เพื่อหลีกเลี่ยงการกดขี่ที่ยังคงมีอยู่ ท่านจึงส่งผู้ติดตามบางส่วนไปยังอะบิสซิเนียใน ค.ศ. 615 ก่อนที่ท่านกับผู้ติดตามอพยพจากมักกะฮ์ไปยังมะดีนะฮ์ (ในเวลานั้นมีชื่อว่า ยัษริบ) ใน ค.ศ. 622 เหตุการณ์นี้ (ฮิจเราะห์) ถือเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิทินอิสลาม ซึ่งมีอีกชื่อว่า ปฏิทินฮิจเราะห์ ในมะดีนะฮ์ มุฮัมมัดรวมชนเผ่าต่าง ๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญมะดีนะฮ์ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 629 หลังสู้รบกับชนเผ่ามักกะฮ์เป็นระยะ ๆ ถึง 8 ปี มุฮัมมัดจึงรวบรวมกองทัพที่มีมุสลิม 10,000 คนและเดินทัพไปมักกะฮ์ การพิชิตครั้งนี้ส่วนใหญ่ไม่มีผู้โต้แย้ง และมุฮัมมัดก็ยึดเมืองนี้ได้โดยมีการนองเลือดเพียงเล็กน้อย ท้ายที่สุดใน ค.ศ. 632 หลังกลับจากฮัจญ์อำลาเพียงไม่กี่เดือน ท่านจึงล้มป่วยและเสียชีวิต ในช่วงที่เสียชีวิตนั้น ผู้คนในคาบสมุทรอาหรับส่วนใหญ่หันมาเข้ารับอิสลามแล้ว[13][14]

วิวรณ์ (อายะฮ์) ที่มุฮัมมัดได้รับจนกระทั่งเสียชีวิตได้รับการรวมรวมเป็นโองการจากอัลกุรอาน ซึ่งมุสลิมถือว่าเป็น "พระดำรัสของพระเจ้า" แบบคำต่อคำ นอกจากอัลกุรอานแล้ว หลักคำสอนและหลักปฏิบัติของมุฮัมมัด (ซุนนะฮ์) ที่พบในสายรายงาน (ฮะดีษ) และในชีวประวัติ (ซีเราะฮ์) ยังยึดถือและใช้เป็นแหล่งที่มาของกฎหมายอิสลาม

แหล่งที่มาของข้อมูลชีวประวัติ

[แก้]
กระดาษพับสอง 2 แผ่นจากเอกสารตัวเขียนอัลกุรอานเบอร์มิงแฮม เอกสารตัวเขียนยุคแรกที่เขียนด้วยอักษรฮิญาซี น่าจะมีอายุในช่วงชีวิตของมุฮัมมัด ระหว่าง ป. ค.ศ. 568–645

อัลกุรอาน

[แก้]

อัลกุรอานเป็นคัมภีร์หลักของศาสนาอิสลาม มุสลิมเชื่อว่าเป็นพระดำรัสของพระเจ้าที่เปิดเผยผ่านทูตสวรรค์ญิบรีลแก่มุฮัมมัด[15][16][17] โดยหลักอัลกุรอานระบุถึง "ศาสนทูตของอัลลอฮ์" ที่สื่อถึงมุฮัมมัดในหลายโองการ โองการอัลกุรอานยังระบุถึงการตั้งถิ่นฐานของผู้ติดตามในยัษริบหลังจากที่ถูกพวกกุร็อยช์ขับไล่ และกล่าวถึงการเผชิญหน้าทางทหารเพียงสั้น ๆ เช่น ชัยชนะของมุสลิมที่บัดร์[18]

อย่างไรก็ตาม อัลกุรอานให้ข้อมูลสำหรับชีวประวัติตามลำดับเวลาของมุฮัมมัดเพียงเล็กน้อย โองการอัลกุรอานส่วนใหญ่ไม่ได้ให้บริบทและลำดับเวลาทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ[19][20] ผู้ติดตามของมุฮัมมัดแทบไม่ปรากฏด้วยชื่อในอัลกุรอาน ทำให้อัลกุรอานไม่ให้ข้อมูลเพียงพอสำหรับประวัติโดยย่อ[18] อัลกุรอานถือว่ามีอายุร่วมสมัยกับมุฮัมมัด และเอกสารตัวเขียนเบอร์มิงแฮมได้รับการหาอายุจากคาร์บอนว่าอยู่ในช่วงชีวิตของท่าน การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นการปัดตกทฤษฎีลัทธิแก้ (revisionist theories) เกี่ยวกับต้นกำเนิดอัลกุรอานของฝั่งตะวันตก[21][22]

ชีวประวัติยุคแรก

[แก้]
เอกสารตัวเขียนยุคแรกจากอัสซีเราะตุนนะบะวียะฮ์ของอิบน์ ฮิชาม เชื่อว่าได้รับการถ่ายทอดโดยลูกศิษย์ของเขาหลังจากที่เขาเสียชีวิตเพียงไม่นานใน ค.ศ. 833

ข้อมูลสำคัญที่สุดเกี่ยวกับชีวิตของมฺุฮัมมัดอาจพบในผลงานประวัติศาสตร์โดยนักเขียนช่วงฮิจเราะห์ศตวรรษที่ 2 ถึง 3 (ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 8 ถึง 9)[23] ข้อมูลเหล่านี้รวมชีวประวัติมุฮัมมัดแบบดั้งเดิมของมุสลิม ซึ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชีวิตของท่าน[24]

ซีเราะฮ์ (ชีวประวัติของมุฮัมมัดและคำพูดที่ระบุว่ามาจากท่าน) รูปเขียนแรกสุดคือ ชีวิตศาสนทูตของอัลลอฮ์ ของอิบน์ อิสฮาก เขียนประมาณ ค.ศ. 767 (ฮ.ศ. 150) แม้ว่าผลงานต้นฉบับสูญหาย ซีเราะฮ์นี้ยังคงหลงเหลือเป็นข้อความที่ตัดตอนมาอย่างกว้างขวางในผลงานของอิบน์ ฮิชาม และของอัฏเฏาะบะรี[25][26] อย่างไรก็ตาม อิบน์ ฮิชามเขียนคำนำในชีวประวัติมุฮัมมัดของตนเองว่า เขาได้ละเว้นเรื่องราวจากชีวประวัติของอิบน์ อิสฮากที่ "จะทำให้บางคนไม่สบายใจ"[27] ข้อมูลประวัติศาสตร์ยุคแรกอีกอันคือประวัติการทัพของมุฮัมมัดโดยอัลวากิดี (เสียชีวิตใน ฮ.ศ. 207) และผลงานของอิบน์ ซะอด์ อัลบัฆดาดี (เสียชีวิตใน ฮ.ศ. 230) เลขานุการของอัลวากิดี[23]

นักวิชาการหลายคนยอมรับว่าชีวประวัติในยุคแรกเหล่านี้เป็นเรื่องจริง แม้ว่าอาจไม่ยืนยันความถูกต้องแม่นยำได้ก็ตาม[25] การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ทำให้นักวิชาการแยกแยะระหว่างธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมาย และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ล้วน ๆ โดยในกลุ่มกฎหมายอาจมีการประดิษฐ์ธรรมเนียมขึ้น ในขณะที่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ อาจอยู่ภายใต้ "การกำหนดรูปแบบแนวโน้ม" เท่านั้น นอกเหนือจากกรณีพิเศษ[28]

ฮะดีษ

[แก้]

อาระเบียก่อนอิสลาม

[แก้]
ชนเผ่าหลักและที่อยู่อาศัยในอาระเบียสมัยที่มุฮัมมัดมีชีวิต

คาบสมุทรอาหรับส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แห้งแล้งที่อุดมไปด้วยดินภูเขาไฟ ทำให้เกษตรกรรมทำได้ยาก เว้นแต่บริเวณใกล้กับโอเอซิสหรือน้ำพุ เมืองและนครตั้งกระจัดกระจายทั่วภูมิภาค โดยเมืองที่มีความสำคัญที่สุดสองแห่งคือมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ โดยมะดีนะฮ์เป็นที่ตั้งถิ่นฐานทางการเกษตรขนาดใหญ่ที่เจริญรุ่งเรือง ส่วนมักกะฮ์เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญสำหรับชนเผ่าหลายกลุ่มโดยรอบ[29] ในทะเลทราย ชีวิตสังคมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอยู่รอด ชนเผ่าพื้นเมืองพึ่งพาซึ่งกันและกัน เพื่ออดทนต่อสภาวะและวิถีชีวิตที่ท้าทาย ความผูกพันของชนเผ่ามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสามัคคีในสังคม ไม่ว่าจะผ่านความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือพันธมิตร [30] ชาวอาหรับพื้นเมืองอาจเป็นทั้งชนร่อนเร่หรือตั้งถิ่นฐาน กลุ่มชนร่อนเร่เดินทางแสวงหาน้ำและทุ่งหญ้าสำหรับฝูงแกะอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ที่อยู่ประจำที่เข้าตั้งถิ่นฐานและเน้นการค้าขายและการเกษตร การอยู่รอดของชนร่อนเร่ยังขึ้นอยู่กับการจู่โจมกองคาราวานหรือโอเอซิส ซึ่งคนร่อนเร่ไม่ได้มองว่าเป็นอาชญากรรม[31]

ในอาระเบียก่อนอิสลาม เทพหรือเทพีถูกมองเป็นผู้พิทักษ์ชนเผ่าจำเพาะ ดวงวิญญาณของเทพมีความเกี่ยวโยงกับต้นไม้ หิน น้ำพุ และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วิหารกะอ์บะฮ์ในมักกะฮ์ นอกจากจะเป็นที่แสวงบุญทุกปีแล้ว ยังเป็นที่ตั้งเทวรูป 360 องค์ที่เป็นเทพผู้อุปถัมภ์ชนเผ่า เทพีที่ได้รับการบูชามี 3 องค์ ในบางพื้นที่จัดให้เป็นพระธิดาในอัลลอฮ์ คือ: อัลลาต มะนาต และอัลอุซซา ชุมชนเอกเทวนิยมมีอยู่ในอาระเบีย เช่น ชาวคริสต์และชาวยิว[d] บางครั้งมีการจัดให้กลุ่มฮะนีฟ ชาวอาหรับพื้นเมืองก่อนอิสลามที่ "นับถือพระเจ้าองค์เดียวที่เข้มงวด"[32] ร่วมกับชาวยิวและคริสต์ในอาระเบียก่อนอิสลาม แม้ว่านักวิชาการหลายคนโต้แย้งในด้านหลักฐานทางประวัติศาสตร์[33][34] ธรรมเนียมมุสลิมระบุว่า ตัวมุฮัมมัดเองเป็นฮะนีฟ และเป็นหนึ่งในลูกหลานของอิสมาอีล บุตรของอิบรอฮีม[35][36]

ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 6 เป็นช่วงเวลาแห่งความปั่นป่วนทางการเมืองในอาระเบีย และเส้นทางการคมนาคมไม่ปลอดภัยอีกต่อไป[37] การแบ่งแยกศาสนาเป็นสาเหตุหลักของวิกฤตินี้[38] โดยศาสนายูดาห์กลายเป็นศาสนาหลักในเยเมน ส่วนศาสนาคริสต์เข้าตั้งถิ่นฐานในพื้นที่อ่าวเปอร์เซีย[38] ภูมิภาคนี้พบเห็นผู้ที่ปฏิบัติตามพหุเทวนิยมลดลง และมีความสนใจรูปแบบศาสนาทางจิตวิญญาณเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าหลายคนไม่เต็มใจที่จะเปลี่ยนมานับถือศาสนาต่างชาติ แต่ความเชื่อเหล่านั้นก็ให้ข้อมูลอ้างอิงทางปัญญาและจิตวิญญาณ[38]

ในช่วงต้นปีของมุฮัมมัด เผ่ากุร็อยช์ที่ท่านอยู่กลายเป็นชนเผ่าที่มีอำนาจในอาระเบียตะวันตก[39]

ประวัติ

[แก้]

ช่วงปีในมักกะฮ์

[แก้]

วัยเด็กและชีวิตช่วงต้น

[แก้]
การกำเนิดของมุฮัมมัดในSiyer-i Nebi คริสต์ศตวรรษที่ 16

มุฮัมมัด อิบน์ อับดุลลอฮ์ อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบ อิบน์ ฮาชิม[40]เกิดที่มักกะฮ์[41]เมื่อประมาณ ค.ศ. 570[1] และเชื่อกันว่าวันเกิดอยู่ในเดือนเราะบีอุลเอาวัล[42] ท่านอยู่ในตระกูลบะนูฮาชิม ซึ่งเป็นหนึ่งในตระกูลที่มีความโดดเด่นอีกตระกูลหนึ่งจากเผ่ากุร็อยช์ในเมืองนี้ แม้ว่าตระกูลนี้จะดูขาดความมั่งคั่งในช่วงปีแรก ๆ[12][e] ชื่อมุฮัมมัดหมายถึง "ได้รับการสรรเสริญ" ในภาษาอาหรับและปรากฏในอัลกุรอาน 4 ครั้ง[43] ในวัยหนุ่มเป็นที่รู้จักกันในนาม อัลอะมีน (แปลว่า น่าเชื่อถือ) อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์มีความเห็นต่างกันว่า ชื่อนี้ตั้งขึ้นเพื่อสะท้อนถึงนิสัยของท่าน[44] หรือเป็นเพีัยงชื่อตัวจากพ่อแม่ นั่นคือ รูปเพศชายของชื่อแม่ของท่าน ("อามินะฮ์")[45] มุฮัมมัดได้รับกุนยะฮ์ อะบูกอซิม หลังการถือกำเนิดของกอซิม ลูกชายที่เสียชีวิตเมื่อสองปีให้หลัง[46]

ธรรมเนียมอิสลามระบุว่าปีเกิดของมุฮัมมัดตรงกับช่วงที่อับเราะฮะฮ์ กษัตริย์เยเมนที่ประสบความล้มเหลวในการยึดครองมักกะฮ์[47] อย่างไรก็ตาม การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ท้าทายแนวคิดนี้ เนื่องจากมีหลักฐานอื่นๆ ชี้ให้เห็นว่า หากเกิดขึ้นจริง เหตุการณ์นี้คงจะเกิดขึ้นเป็นนัยยะสำคัญก่อนที่มุฮัมมัดจะถือกำเนิด[1][48][49][50][51][45] นักวิชาการมุสลิมยุคหลังสันนิษฐานว่าเชื่อมโยงชื่ออันโด่งดังของอับเราะฮะฮ์กับเรื่องเล่าการกำเนิดของมุฮัมมัดเพื่ออธิบายข้อความที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับ "พวกเจ้าของช้าง" ในคัมภีร์อัลกุรอาน 105:1–5[48][52] The Oxford Handbook of Late Antiquity จัดให้เรื่องราวการทัพด้วยช้างศึกของอับเราะฮะฮ์เป็นเรื่องปรัมปรา[49]

อับดุลลอฮ์ พ่อของมุฮัมมัด เสียชีวิตก่อนที่ท่านเกิดเกือบ 6 เดือน[53] ตามธรรมเนียมอาหรับในสมัยนั้นระบุว่า หลังจากถือกำเนิดแล้ว ท่านถูกส่งไปอยู่กับครอบครัวเบดูอินในทะเลทราย แต่นักวิชาการตะวันตกบางคนปฏิเสธประวัติธรรมเนียมนี้[54] มุฮัมมัดอาศัยอยู่กับแม่เลี้ยงฮะลีมะฮ์ บินต์ อะบีษุอัยบ์ กับสามีของเธอจนกระทั่งท่านอายุ 2 ขวบ ตอนอายุ 6 ขวบ อะมีนะฮ์ บินต์ วะฮับ แม่ของมุฮัมมัด ป่วยแล้วเสียชีวิต และทำให้ท่านกลายเป็นเด็กกำพร้า[54][55] จนกระทั่งอายุ 8 ขวบ มุฮัมมัดได้อยู่ในความคุ้มครองของอับดุลมุฏฏอลิบ ผู้นำเผ่าบนูฮาชิม ผู้เป็นปู่ของท่าน จนกระทั่งเขาเสียชีวิต แล้วจึงอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของอบูฏอลิบ อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบ ลุงของท่าน ผู้เป็นผู้นำคนใหม่ของบะนูฮาชิม[7]

ธรรมเนียมอิสลามระบุว่า เมื่อมุฮัมมัดอายุ 9 หรือ 12 ขวบ เข้าร่วมกองคาราวานมักกะฮ์ที่เดินทางไปซีเรีย ท่านพบกับบาทหลวงคริสต์นามบะฮีรอที่กล่าวว่ามองเห็นอาชีพในอนาคตของมุฮัมมัดในฐานะศาสทูตของพระเจ้า[56] ในช่วงวัยรุ่น ท่านได้ช่วยลุงไปค้าขายที่แผ่นดินชาม หรือบริเวณประเทศซีเรียในปัจจุบัน เพื่อเก็บประสบการณ์ทางการค้า[57]

ข้อมูลเกี่ยวกับช่วงวัยรุ่นของท่านมีน้อย เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่กระจัดกระจาย ทำให้เป็นการยากที่จะแยกประวัติศาสตร์ออกจากตำนาน[57] มีรายงานว่าท่านกลายเป็นพ่อค้าและ "มีส่วนในการค้าขายระหว่างมหาสมุทรอินเดียถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน"[58] ชื่อเสียงของท่านทำให้มีข้อเสนอจากเคาะดีญะฮ์ เศรษฐินีที่ประสบความสำเร็จใน ค.ศ. 595 ภายหลังมุฮัมมัดก็ได้แต่งงานกับนาง ซึ่งทุกสายรายงานบอกว่าเป็นการแต่งงานที่มีความสุข[58]

ภาพเล็กจากญามิอุตตะวารีค, ประมาณ 1315 โดยเราะชีด-อัล-ดิน-ฮามาดานี แสดงเรื่องราวมุฮัมมัดนำหินดำไปติดตั้งใหม่ใน ค.ศ. 605 (สมัยจักรวรรดิข่านอิล)[59]

ใน ค.ศ. 605 ตามรายงานที่อิบน์ อิสฮากรวบรวมไว้ เมื่อถึงช่วงที่มีการตั้งหินดำใหม่ มีการโต้เถียงกันว่าตระกูลใดควรได้รับสิทธิพิเศษนี้ ทำให้มีการตัดสินว่าบุคคลแรกที่เข้ามาในลานกะอ์บะฮ์จะเป็นผู้ชี้ขาด และผู้ที่มาคนแรกคือมุฮัมมัด ท่านจึงขอผ้าคลุมแล้วยกหินตั้งบนนั้น แล้วให้ผู้นำตระกูลต่าง ๆ จับผ้าผืนนั้นพร้อมกัน และท่านจะเป็นคนนำหินตั้งเอง[60][61]

จุดเริ่มต้นของอัลกุรอาน

[แก้]
ถ้ำฮิรออ์บนภูเขาญะบัลนูรที่มุฮัมมัดได้รับโองการแรกตามความเชื่อของมุสลิม

มุฮัมมัดเริ่มอธิษฐานคนเดียวในถ้ำฮิรออ์บนเขาญะบะลุนนูรใกล้มักกะฮ์เป็นเวลาหลายสัปดาห์ของทุกปี[62][63] ในธรรมเนียมอิสลามระบุว่า ใน ค.ศ. 610 เมื่อท่านมีอายุ 40 ปี ทูตสวรรค์ญิบรีลปรากฏตัวต่อหน้าท่าน และสั่งให้มุฮัมมัดอ่าน เมื่อมุฮัมมัดสารภาพว่าตนไม่รู้หนังสือ ญิบรีลจึงเข้าบีบรัดอย่างแรง ทำให้ท่านแทบจะหายใจไม่ออก และออกคำสั่งซ้ำ ขณะที่มุฮัมมัดย้ำว่าตนอ่านหนังสือไม่ออก ญิบรีลจึงบีบรัดอีกครั้งในลักษณะเดียวกัน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกครั้งก่อนที่ญิบรีลอ่านโองการเหล่านี้ในที่สุด ทำให้มุฮัมมัดสามารถจดจำได้[64][65][66] โองการเหล่านี้ภายหลังจัดให้อยู่ในอัลกุรอาน ซูเราะฮ์ที่ 96:1-5[67]

ประสบการณ์นี้ทำให้มุฮัมมัดรู้สึกหวาดกลัว แต่ก็รู้สึกอุ่นใจกับเคาะดีญะฮ์ ภรรยาของท่าน และวะเราะเกาะฮ์ อิบน์ เนาฟัล ลูกพี่ลูกน้องที่นับถือศาสนาคริสต์ของเธอ ในทันที[68]

กิริยาท่าทางของมุฮัมมัดในช่วงที่มีการดลใจเป็นถี่ ๆ นำไปสู่การกล่าวหาจากคนร่วมสมัยว่า ท่านอยู่ภายใต้อิทธิพลของญิน ผู้ทำนาย หรือนักมายากล โดยเสนอว่าประสบการณ์ของท่านในระหว่างเหตุการณ์เหล่านี้มีความคล้ายคลึงกับประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในอาระเบียโบราณ กระนั้น เหตุการณ์ครอบงำอันลึกลับเหล่านี้อาจเป็นหลักฐานโน้มน้าวใจสำหรับผู้ติดตามของท่านในเรื่องต้นกำเนิดอันศักดิ์สิทธิ์ของการเปิดเผยโองการ นักประวัติศาสตร์บางคนตั้งข้อสังเกตว่าคำอธิบายภาพอาการของมุฮัมมัดในกรณีเหล่านี้น่าจะเป็นเรื่องจริง เนื่องจากไม่น่าจะเป็นไปได้ที่มุสลิมรุ่นหลังจะประดิษฐ์เรื่องนี้ขึ้นได้[69][70]

ภาพทูตสวรรค์ญิบรีลพบกับมุฮัมมัดในSiyer-i Nebi คริสต์ศตวรรษที่ 16

หลังวะเราะเกาะฮ์เสียชีวิตไม่นาน การประทานวะฮ์ยูนั้นหยุดไปช่วงหนึ่ง ทำให้มุฮัมมัดรู้สึกทุกข์ใจอย่างมากและคิดฆ่าตัวตาย[66][f] ในช่วงหนึ่ง มีรายงานว่าท่านปีนขึ้นเขาเพื่อตั้งใจที่จะกระโดดลงไป อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงยอดเขา ญิบรีลปรากฏต่อท่านเพื่อยืนยันสถานะศาสนทูตของอัลลอฮ์อย่างแท้จริง การเผชิญหน้าครั้งนี้ทำให้มุฮัมมัดสงบลง และก็กลับบ้าน ต่อมาเมื่อมีการเว้นช่วงระหว่างการประทานโองการเป็นเวลานานอีก ท่านก็ทำเช่นนี้อีก แต่ญิบรีลก็เข้ามาแทรกแซงในทำนองเดียวกัน ทำให้ท่านสงบลงและกลับบ้าน[71][72]

มุฮัมมัดมั่นใจว่าสามารถแยกแยะความคิดของตนเองจากข้อความเหล่านี้ได้[73] การเปิดเผยอัลกุรอานในยุคแรกใช้วิธีการเตือนผู้ไม่ศรัทธาด้วยการลงโทษจากสวรรค์ ขณะเดียวกันก็สัญญาว่าจะให้รางวัลแก่ผู้ศรัทธา พวกเขาถ่ายทอดผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ความอดอยากและการสังหารผู้ที่ปฏิเสธพระเจ้าของมุฮัมมัด และพาดพิงถึงภัยพิบัติทั้งในอดีตและอนาคต โองการในคัมภีร์ยังเน้นย้ำถึงการพิพากษาครั้งสุดท้ายที่ใกล้จะมาถึง และภัยคุกคามจากไฟนรกสำหรับผู้คลางแคลงใจ[74] ธรรมเนียมมุสลิมระบุว่า เคาะดีญะฮ์ ภรรยาของท่าน เป็นบุคคลแรกที่เชื่อว่าท่านเป็นศาสดา[75] ตามมาด้วยอะลี อิบน์ อะบี ฏอลิบ ลูกพี่ลูกน้องอายุ 10 ขวบของท่าน อะบูบักร์ เพื่อนใกล้ชิด และซัยด์ บุตรบุญธรรม[75]

การต่อต้านในมักกะฮ์

[แก้]

มุฮัมมัดเริ่มเผยแผ่คำสอนแก่สาธารณชนเมื่อประมาณ ค.ศ. 613[9][76] ในตอนแรก ท่านไม่ได้ประสบกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากพลเมืองมักกะฮ์ที่เฉยเมยต่อกิจกรรมเปลี่ยนศาสนาของท่าน แต่เมื่อท่านเริ่มโจมตีความเชื่อของพวกเขา ความตึงเครียดจึงเกิดขึ้น[77][78][79][80] เผ่ากุร็อยช์ท้าให้ท่านแสดงปาฏิหารย์ เช่น นำน้ำพุออกมา แต่ท่านปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าความสม่ำเสมอของธรรมชาติเป็นข้อพิสูจน์ถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่เพียงพอแล้ว บางคนเยาะเย้ยต่อความล้มเหลวของท่านโดยสงสัยว่าทำไมพระเจ้าไม่ประทานทรัพย์สมบัติให้ท่านเสียที ในขณะที่อีกกลุ่มขอให้ท่านเดินทางไปสวรรค์และกลับมาพร้อมนำม้วนกระดาษอัลกุรอานที่จับต้องได้ แต่มุฮัมมัดยืนยันว่า อัลกุรอานในรูปแบบที่ท่านถ่ายทอดออกมานั้นเป็นข้อพิสูจน์ที่น่ามหัศจรรย์อยู่แล้ว[81][82]

อัมร์ อิบน์ อัลอาศรายงานว่า ชาวกุร็อยช์บางคนรวมตัวกันที่ฮิจญร์และปรึกษาว่าพวกเขาไม่เคยเจอปัญหาร้ายแรงอย่างที่พวกเขาพบกับมุฮัมมัดมาก่อน พวกเขากล่าวว่าท่านได้ดูหมิ่นวัฒนธรรม ดูหมิ่นบรรพบุรุษ ดูหมิ่นความศรัทธา ทำลายชุมชน และสาปแช่งเทพเจ้าของพวกเขา[83][84][85]

พวกกุร็อยช์จึงพยายามหลอกล่อให้มุฮัมมัดหยุดสอนศาสนาด้วยการให้ท่านเข้าสู่วงในของพ่อค้า ตลอดจนการแต่งงานที่ได้เปรียบ แต่ท่านปฏิเสธทั้งสองข้อเสนอ[86]

ขณะที่มุสลิมกลุ่มหนึ่งทำการละหมาดในหุบเหว ชาวกุร็อยช์บางคนวิ่งไปหาาและกล่าวหาพวกเขาในสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ ซะอด์ อิบน์ อะบี วักกอศ บุคคลหนึ่งในมุสลิมกลุ่มนั้น จึงถือกระดูกขากรรไกรอูฐไปตีชาวกุเรชจนทำให้หัวแตก ถือเป็นการนองเลือดครั้งแรกในศาสนาอิสลาม[87][88]

นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่หลายคนกล่าวถึงการกดขี่ในช่วงแรกโดยชาวมักกะฮ์ว่า "ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง"[89][90][91] ซึ่งถูกจำกัดโดยระบบเผ่าที่เป็นหลักประกันความปลอดภัยภายในมักกะฮ์[89] เพื่อให้แน่ใจว่าความรุนแรงระหว่างกลุ่มจะถือเป็นการโจมตีเพื่อเกียรติยศของคนทั้งกลุ่ม ภัยคุกคามของการดำเนินการตอบโต้สามารถป้องกันกรณีความรุนแรงที่ร้ายแรงต่อผู้อ้างว่าเป็นมุสลิมได้เป็นส่วนใหญ่ที่กลับตกอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการดูหมิ่นทางวาจาเป็นหลัก[89][90][92] กรณีความรุนแรงทางร่างกายต่อชาวมุสลิมที่โดดเด่นที่สุดในช่วงเวลานี้คือความรุนแรงต่อทาส โดยเฉพาะต่อบิลาล อิบน์ เราะบาห์กับอามิร อิบน์ ฟุฮัยเราะฮ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจากตระกูล[89] อัลกุรอานไม่ได้กล่าวถึงการกดขี่นี้ โดยเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งนี้พบในซีเราะฮ์[93]

กลุ่มตัวแทนกุร็อยช์ไปที่ยัษริบ

[แก้]

การอพยพไปยังอะบิสซีเนีย

[แก้]

ใน ค.ศ. 615 ด้วยความกลัวว่าผู้ติดตามของท่านจะถูกล่อลวงออกจากศาสนาของพวกเขา[94] มุฮัมมัดจึงส่งบางส่วนอพยพไปที่อาณาจักรอักซุมของอะบิสซีเนียและจัดตั้งอาณานิคมขนาดเล็กภายใต้การคุ้มครองของอันนะญาชี จักรพรรดิเอธิโอเปียที่นับถือศาสนาคริสต์[12] ในบรรดาผู้อพยพกลุ่มนั้นได้แก่อุมม์ฮะบีบะฮ์ ลูกสาวของอะบูซุฟยาน หนึ่งในหัวหน้าเผ่ากุร็อยช์ และสามีของเธอ[95] ฝ่ายกุร็อยช์จึงส่งตัวชายสองคนให้นำตัวพวกเขากลับมา เนื่องจากงานเครื่องหนังในอะบิสซีเนียสมัยนั้นมีราคาแพงมาก พวกเขาจึงรวบรวมผืนหนังจำนวนมากและขนส่งไปที่นั่นเพื่อแจกจ่ายให้กับนายพลของอาณาจักรแต่ละแห่ง แต่กษัตริย์ทรงปฏิเสธคำร้องขอของพวกเขาอย่างเหนียวแน่น[96]

ในขณะที่อัฏเฏาะบะรีกับอิบน์ ฮิชามกล่าวถึงการอพยพไปอะบิสซีเนียเพียงครั้งเดียว อิบน์ ซะอด์ระบุว่ามีการอพยพถึงสองชุด โดยในสองชุดนั้น ประชากรกลุ่มแรกส่วนใหญ่เดินทางกลับมักกะฮ์ก่อนเหตุการณฺฮิจเราะห์ ส่วนประชากรส่วนใหญ่ในกลุ่มที่สองยังคงอยู่ที่อะบิสซีเนียและเดินทางไปยังมะดีนะฮ์หลังเหตุการณ์ฮิจเราะห์ บันทึกเหล่านี้ยอมรับว่าการกดขี่มีบทบาทสำคัญต่อการที่มุฮัมมัดส่งพวกเขาไปที่นั่น ในจดหมายของอุรวะฮ์ที่อัฏเฏาะบะรีรักษาไว้ระบุว่า ผู้ที่อพยพเดินทางกลับมาหลังการเข้ารับอิสลามของบุคคลที่มีตำแหน่งหลายคน เช่น อุมัรกับฮัมซะฮ์[97]

ใน ค.ศ. 616 มีการจัดทำข้อตกลงโดยตระกูลอื่น ๆ ในเผ่ากุร็อยช์ทั้งหมดที่บังคับใช้การคว่ำบาตรต่อบะนูฮาชิม ห้ามค้าขายและแต่งงานกับพวกเขา[98] ถึงกระนั้น สมาชิกบะนูฮาชิมยังคงสามารถเดินทางรอบตัวเมืองได้อย่างมีอิสระ แม้ว่ามุฮัมมัดเผชิญกับการดูหมิ่นทางวาจามากขึ้น ท่านยังคงเดินทางและมีส่วนในการโต้วาทีในที่สาธารณะโดยไม่ถูกทำร้ายทางร่างกาย[92] ในช่วงหลัง ฝ่ายกุร็อยช์จำนวนหนึ่งที่เห็นอกเห็นใจต่อบะนูฮาชิมริเริ่มความพยายามยุติการคว่ำบาตร ส่งผลให้เกิดฉันทามติทั่วไปให้ยกเลิกการคว่ำบาตรใน ค.ศ. 619[99][97]

พยายามจัดตั้งตนเองในอัฏฏออิฟ

[แก้]

ใน ค.ศ. 619 มุฮัมมัดประสบกับช่วงแห่งความโศกเศร้า เนื่องจากเคาะดีญะฮ์ ภรรยาผู้สนับสนุนทางการเงินและอารมณ์ที่สำคัญของท่าน เสียชีวิต[100] และอะบูฏอลิบ ลุงและผู้พิทักษ์ของท่าน ก็เสียชีวิตในปีเดียวกัน[101][102] แม้ว่ามุฮัมมัดเรียกร้องให้อะบูฏอลิบเข้ารับอิสลามตอนที่เขาอยู่บนเตียงนอนขณะกำลังจะเสียชีวิต แต่เขาก็ยึดติดกับความเชื่อพหุเทวนิยมจนกระทั่งเสียชีวิต[103][102] อะบูละฮับ ลุงของมุฮัมมัดอีกคนที่ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าตระกูลบะนูฮาชิมต่อ ในตอนแรกเต็มใจที่จะปกป้องมุฮัมมัด แต่หลังได้ยินจากมุฮัมมัดว่าอะบูฏอลิบกับอับดุลมุฏฏอลิบจะต้องตกนรกเนื่องจากไม่ยอมรับอิสลาม เขาจึงถอนการสนับสนุน[103][104]

จากนั้นมุฮัมมัดจึงเดินทางไปยังอัฏฏออิฟเพื่อพยายามก่อร่างตนเองในเมืองและได้รับความช่วยเหลือกับการคุ้มครองจากชาวมักกะฮ์[105][97][106] แต่กลับมีเสียงตอบมาว่า: "ถ้าแกเป็นศาสดาจริง ๆ ทำไมต้องการความช่วยเหลือจากเราด้วย? ถ้าพระเจ้าส่งแกมาในฐานะศาสนทูต ทำไมพระองค์ไม่ปกป้องแก? และถ้าอัลลอฮ์ประสงค์ที่จะส่งศาสดาลงมา ทำไมพระองค์ไม่พบคนที่ดีไปกว่าแก ไอ้เด็กกำพร้าอ่อนแอไร้พ่อ?"[107] เมื่อพบว่าภารกิจของท่านล้มเหลว มุฮัมมัดจึงขอให้ผู้คนในอัฏฏออิฟเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ ด้วยความกลัวว่าสิ่งนี้จะเสริมสร้างความเป็นศัตรูของกุร็อยช์ต่อท่าน แต่ทว่า แทนที่จะตอบรับคำขอ พวกเขากลับขว้างก้อนหินใส่จนทำให้ขาของท่านบาดเจ็บ[108]

เมื่อมุฮัมมัดเดินทางกลับมักกะฮ์ ข่าวเหตุการณ์ในอัฏฏออิฟถึงหูของอะบูญะฮล์ และเขาตอบว่า "พวกเขาไม่ยอมให้มันเขาอัฏฏออิฟ ดังนั้นเราไม่ให้มันเข้ามักกะฮ์ด้วย" เมื่อรู้ถึสถานการณ์เช่นนีเ มุฮัมมัดจึงถามคนที่ขี่ม้าผ่านมาให้ส่งข้อความไปยังอัลอัคนัส อิบน์ ชุร็อยก์ สมาชิกทางฝั่งตระกูลแม่ เพื่อขอความคุ้มครองให้ท่านเข้าเมืองได้อย่างปลอดภัย แต่อัลอัคนัสปฏิเสธ โดยกล่าวว่าตนเป็นเพียงผู้เกี่ยวข้องกับเผ่ากุร็อยช์เท่านั้น จากนั้นมุฮัมมัดจึงส่งข้อความไปยังซุฮัยล์ อิบน์ อัมร์ที่ปฏิเสธตามหลักชนเผ่าเช่นเดียวกัน ท้ายที่สุด มุฮัมมัดจึงส่งคนไปถามมุฏอิม อิบน์ อะดี หัวหน้าตระกูลบะนูเนาฟัล มุฏอิมยอมรับ แล้วเตรียมตัวและขี่ออกไปตอนเช้าพร้อมบรรดาลูกและหลานชายเพื่อนำมุฮัมมัดเข้าเมือง เมื่ออะบูญะฮล์เห็นเขา เขาถามว่ามุฏอิมแค่ให้การคุ้มครองหรือหันไปเข้ารีตศาสนาของท่านแล้ว มุฏอิมกล่าวว่า "แค่ให้การคุ้มครองเขา" อะบูญะฮล์จึงตอนว่า "เราจะปกป้องใครก็ตามที่เจ้าคุ้มครอง"[109]

อิสรออ์กับมิอ์รอจญ์

[แก้]
โองการอัลกุรอานบนโดมแห่งศิลา บริเวณนี้เป็นจุดที่มุสลิมเชื่อว่ามุฮัมมัดเดินทางขึ้นสู่สวรรค์[110]

ในช่วงที่ตกต่ำของชีวิตมุฮัมมัดเป็นช่วงที่มีรายงานซีเราะฮ์เกี่ยวกับอิสรออ์กับเมียะอ์รอจญ์ ปัจจุบัน มุสลิมเชื่อว่าอิสรออ์คือการเดินทางของมุฮัมมัดจากมักกะฮ์ไปยังเยรูซาเลม ส่วนเมียะอ์รอจญ์คือการเดินทางจากเยรูซาเลมสู่ชั้นฟ้า[111] ไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับเมียะอ์รอจญ์ในอัลกุรอาน เนื่องจากอัลกุรอานไม่ได้กล่าวถึงสิ่งนี้โดยตรง[112]

อพยพไปมะดีนะฮ์ (ฮิจเราะฮ์)

[แก้]

มีการมอบหมายหน้าที่ในสภาของสิบสองชนเผ่าสำคัญแห่งมะดีนะฮ์ ได้เชิญชวนให้มุฮัมมัดเป็นหัวหน้าของสังคมทั้งหมด เพราะว่าท่านมีสถานะเป็นกลาง[113][114] โดยมีการต่อสู้ในมะดีนะฮ์ ข้อแรกคือความขัดแย้งระหว่างชาวอาหรับกับชาวยิวที่มีมานานกว่าร้อยปี[113]

มุฮัมมัดได้บอกให้ผู้ติดตามให้อพยพไปมะดีนะฮ์ทั้งหมด ตามรายงานธรรมเนียมอิสลามว่า พวกมักกะฮ์วางแผนลอบสังหารมุฮัมมัด แต่ด้วยความช่วยเหลือจากอะลี มุฮัมมัดจึงรอดจากการถูกฆ่า และหนีอออกไปจากเมืองกับอบูบักร์[115] ในปีค.ศ. 622 มุฮัมัมดได้อพยพไปยังมะดีนะฮ์ โดยใครที่อพยพมาจากมักกะฮ์จะถูกเรียกเป็น มุฮาญิรีน (ผู้อพยพ)

ช่วงปีในมะดีนะฮ์

[แก้]

Julius Wellhausen นักบูรพาคดีในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ระบุว่า เมื่อมุฮัมมัดเดินทางถึงใน ค.ศ. 622 ชนเผ่ายิวเป็นพันธมิตรกับชนเผ่าอาหรับสองกลุ่มที่อยู่ในสังกัด อย่างไรก็ตาม Russ Rodgers นักประวัติศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ปฏิเสธสิ่งนี้ เขาโต้แย้งว่าในช่วงการทำสัตยาบันอะเกาะบะฮ์ครั้งที่สองของมุฮัมมัด สมาชิกชนเผ่าอาหรับกล่าวว่าพวกตนต้องทำลายความเป็นพันธมิตรกับชาวยิวเนื่องจากลักษณะของคำมั่นสัญญา Rodgers อนุมานได้ว่าชนเผ่าอาหรับเป็นผู้ยอมจำนน หรืออย่างมากที่สุดก็มีตำแหน่งเท่าเทียมกับชาวยิว เพราะมิฉะนั้น ชาวยิวก็จะถูกดึงเข้าสู่พันธสัญญานี้[116]

รัฐธรรมนูญมะดีนะฮ์

[แก้]

หลังจากบรรยายเรื่องฮิจเราะห์แล้ว อิบน์ อิสฮากยืนยันว่ามุฮัมหมัดเขียนข้อความที่ปัจจุบันเรียกว่ารัฐธรรมนูญมะดีนะฮ์และเปิดเผยเนื้อหาที่สันนิษฐานไว้โดยไม่มีการระบุอิสนาด หรือหลักฐานใด ๆ มาสนับสนุน[117] โดยทั่วไปถือเป็นการตั้งชื่อที่ไม่ชัดเจน เนื่องจากข้อความนี้ไม่ได้กำหนดสถานะหรือบัญญัติกฎเกณฑ์อัลกุรอาน[118] แต่เป็นการกล่าวถึงเรื่องชนเผ่า[119] ในขณะที่นักวิชาการทั้งฝั่งตะวันตกและโลกมุสลิมยอมรับถึงความน่าเชื่อถือของข้อความ ยังคงมีข้อขัดแย้งว่าสิ่งนี้เป็นสนธิสัญญาหรือคำประกาศฝ่ายเดียวของมุฮัมมัด จำนวนเอกสารที่มีประกอบ ฝ่ายหลัก ระยะเวลาเฉพาะของการประดิษฐ์ (หรือส่วนของส่วนประกอบ) ไม่ว่าจะร่างไว้ก่อนหรือหลังมุฮัมมัดกำจัดชนเผ่ายิวชั้นนำสามกลุ่มในมะดีนะฮ์ และแนวทางในการแปลที่ถูกต้อง[117][120]

เริ่มการใช้อาวุธในทางทหาร

[แก้]
สำหรับบรรดาผู้ (ที่ถูกโจมตีนั้น) ได้รับอนุญาตให้ต่อสู้ได้ เพราะพวกเขาถูกข่มเหง และแท้จริงอัลลอฮ์ทรงสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างแน่นอน บรรดาผู้ที่ถูกขับไล่ออกจากบ้านเรือนของพวกเขา โดยปราศจากความยุติธรรม นอกจากพวกเขากล่าวว่า “อัลลอฮ์คือพระเจ้าของเราเท่านั้น” และหากว่าอัลลอฮ์ทรงขัดขวางมิให้มนุษย์ต่อสู้ซึ่งกันและกันแล้ว บรรดาหอสวด และโบสถ์ (ของพวกคริสต์) และสถานที่สวด (ของพวกยิว) และมัสยิดทั้งหลายที่พระนามของอัลลอฮ์ ถูกกล่าวรำลึกอย่างมากมาย ต้องถูกทำลายอย่างแน่นอน และแน่นอนอัลลอฮ์ จะทรงช่วยเหลือผู้ที่สนับสนุนศาสนาของพระองค์ แท้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงพลัง ผู้ทรงเดชานุภาพอย่างแท้จริง

— กุรอาน (22:39–40)

หลังการอพยพ ชาวมักกะฮ์ได้ยึดทรัพย์สินของชาวมุสลิมที่อพยพไปยังมะดีนะฮ์[121] และสงครามได้เกิดขึ้นระหว่างชาวมักกะฮ์กับมุสลิม ศาสดาได้บอกโองการจากอัลกุรอานที่อนุญาตให้มุสลิมต่อสู้ได้ (ดูซูเราะฮ์อัลฮัจญ์ กุรอาน 22:39–40).[122]รายงานจากธรรมเนียมมุสลิม ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 624 ในขณะละหมาดที่มัสยิดอัลกิบละตัยน์ในมะดีนะฮ์ มุฮัมมัดได้รับโองการจากอัลลอฮ์ให้เปลี่ยนกิบลัตจากเยรูซาเลมไปยังมักกะฮ์[123]

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 624 มุฮัมมัดได้นำทหาร 300 นาย ไปโจมตีกองคาราวานของมักกะฮ์ โดยซุ่มอยู่ที่บัดร์[124] แต่เนื่องจากพวกมักกะฮ์รู้แผนก่อน จึงเลี่ยงเส้นทางนั้น และถึงที่หมายอย่างปลอดภัย ทำให้เกิดยุทธการที่บะดัรขึ้น[125] แม้ว่าพวกมักกะฮ์มีจำนวนมากกว่ามุสลิมอยู่ 3 ต่อ 1 แต่ฝ่ายมุสลิมก็ชนะสงคราม โดยชาวมักกะฮ์ถูกฆ่าไป 45 คน และฝ่ายมุสลิมถูกฆ่าไป 14 คน และได้ฆ่าหัวหน้าชาวมักกะฮ์คนสำคัญหลายคน เช่น อบูญะฮัล[126] มีการจับนักโทษ 70 คน โดยส่วนใหญ่ถูกไถ่แล้ว[127][128][129] มุฮัมมัดกับผู้ติดตามเห็นชัยชนะครั้งนี้เป็นการยืนยันความศรัทธา และท่านกล่าวว่าชัยชนะนี้เกิดจากกลุ่มเทวทูต อายะฮ์กุรอานในช่วงนั้นกล่าวถึงการจัดการปัญหาของรัฐบาลและปัญหาต่าง ๆ [130]

มุฮัมมัดได้สั่งเนรเทศเผ่าบนูกุร็อยเซาะฮ์ หนึ่งในสามชนเผ่ายิว ออกจากมะดีนะฮ์ แต่นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากท่านเสียชีวิตไปแล้ว[131] รายงานจากอัลวะกีดี หลังจากอับดุลลอฮ์ อิบน์ อุบัยด์พูดกับพวกเขา มุฮัมมัดละเว้นการประหารชีวิต และสั่งให้เนรเทศพวกเขาออกจากมะดีนะฮ์[132] หลังจากสงครามนี้ มุฮัมมัดได้สร้างพันธมิตรกับชนเผ่าเบดูอินหลายเผ่า เพื่อปกป้องสังคมของท่านจากการโจมตีในบริเวณตอนเหนือของฮิญาซ

ความขัดแย้งกับมักกะฮ์

[แก้]
"ศาสดามุฮัมมัดกับกองทัพมุสลิมที่ยุทธการที่อุฮุด" จาก Siyer-i Nebi ในปีค.ศ. 1595

ชาวมักกะฮ์ต้องการแก้แค้น เพื่อให้เศรษฐกิจกลับคืนมา พวกเขาต้องฟื้นฟูศักดิ์ศรีที่สูญเสียไปที่บะดัร[133] ไม่กี่เดือนต่อมา พวกมักกะฮ์ส่งหน่วยสอดแนมไปที่มะดีนะฮ์ ในขณะที่มุฮัมมัดเดินทางไปที่ชนเผ่าที่สวามิภักดิ์ต่อมักกะฮ์ และส่งหน่วยจู่โจมไปที่คาราวานมักกะฮ์[134] อบูซุฟยานได้เตรียมกองทัพ 3,000 คนไปโจมตีมะดีนะฮ์[135]

หน่วยสอดแนมได้แจ้งมุฮัมมัดถึงการมาและจำนวนทหารของฝ่ายมักกะฮ์ เช้าวันต่อมาได้มีการประชุมเกี่ยวกับสงคราม มุฮัมมัดกับผู้อาวุโสหลายคนมีมติว่าควรสู้ในมะดีนะฮ์ แต่ฝ่ายมุสลิมโต้แย้งว่าฝ่ายมักกะฮ์จะทำลายพืชผล และการสู้รบในเมืองอาจทำลายศักดิ์ศรีของมุสลิม มุฮัมมัดจึงยอมรับและเตรียมกองทัพไปสู้รบที่ภูเขาอุฮุด (ที่ตั้งของค่ายชาวมักกะฮ์) แล้วสู้รบในสงครามอุฮุด เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 625[136][137] ถึงแม้ว่าฝ่ายมุสลิมมีความได้เปรียบในช่วงแรก แต่ความหละหลวมต่อยุทธวิธีของพลธนูทำให้ฝ่ายมุสลิมพ่ายแพ้ โดยถูกฆ่าไป 75 คน ซึ่งรวมถึงฮัมซะฮ์ อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบ ลุงของมุฮัมมัด พวกมักกะฮ์ไม่ได้ไล่ตามพวกมุสลิม แต่ได้รวมพลกลับมักกะฮ์เพื่อประกาศชัยชนะ เพราะพวกเขาคิดว่ามุฮัมมัดบาดเจ็บและคงตายไปแล้ว เมื่อพวกเขาพบว่ามุฮัมมัดยังไม่ตาย พวกมักกะฮ์จึงล้มเหลวต่อการกำจัดพวกมุสลิมให้สิ้นซาก[138][139] ชาวมุสลิมได้ฝังศพและกลับบ้านในเวลาเย็น แล้วถามถึงสาเหตุความพ่ายแพ้ มุฮัมมัดได้กล่าวอายะฮ์กุรอาน 3:152 ว่าสาเหตุการพ่ายแพ้มีอยู่สองอย่าง คือ: การไม่เชื่อฟัง และการทดสอบความแน่วแน่[140]

อบูซุฟยานได้นำกองทัพอีกกลุ่มไปโจมตีมะดีนะฮ์ โดยได้ผู้สนับสนุนจากชนร่อนเร่ในบริเวณตอนเหนือกับตะวันออกของมะดีนะฮ์ ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับจุดอ่อนของมุฮัมมัด สัญญาที่จะปล้น ความทรงจำในศักดิ์ศรีของเผ่ากุเรช และสินบน[141] มุฮัมมัดรู้ถึงความดื้อดึงต่อผู้คนในมะดีนะฮ์ และตอบสนองอย่างดี[142] ตัวอย่างแรกคือ การลอบสังหารกะอับ อิบน์ อัลอัชรอฟ หัวหน้าเผ่ายิวบนูนาดีร อัลอัชรอฟไปยังมักกะฮ์แล้วเขียนกวีให้ชาวมักกะฮ์แก้แค้นต่อสงครามบะดัร[143][144] ในปีต่อมา มุฮัมมัดได้เนรเทศเผ่าบนูนาดีรไปจากมะดีนะฮ์[145]โดยบังคับให้อพยพไปที่ซีเรีย ซึ่งทำให้ศัตรูรวมกันเป็นหนึ่งเพื่อทำลายท่านเสีย มุฮัมมัดพยายามหลีกเลี่ยงการรวมตัวของพวกเขาแต่ล้มเหลว ถึงแม้ว่าท่านสามารถเพิ่มจำนวนพลทหารและหยุดชนเผ่าอื่นเข้าร่วมฝ่ายศัตรูก็ตาม[146]

ยุทธการสนามเพลาะ

[แก้]

เมื่อรู้ว่าชัยชนะของตนที่อุฮุดล้มเหลวต่อการทำให้ตำแหน่งของมุฮัมมัดอ่อนแอลงอย่างมาก ในขณะที่ท่านยังคงเตรียมการจู่โจมคาราวานสินค้าของพวกเขาต่อไป พวกกุร็อยช์ ในที่สุดก็มองเห็นความจำเป็นในการยึดครองมะดีนะฮ์ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่พวกเขาเคยละเลยไปก่อนหน้านี้[147] ข้อมูลมุสลิมระบุว่า การตัดสินใจครั้งนี้ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากผู้นำเผ่าบะนูนะฎีรบางส่วนที่ทุกข์ใจต่อการสูญเสียดินแดนของตน[148][147] อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนั้นอาจเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อของมุสลิม[149] ด้วยความตระหนักถึงทักษะการทำสงครามที่จำกัดในฐานะพ่อค้าในเมืองของตน พวกกุร็อยช์จึงเริ่มการเจรจากับชนเผ่าเบดูอินกลุ่มต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง โดยรวบรวมกองกำลังที่เชื่อกันว่ามีจำนวนประมาณ 10,000 คน[147] มุฮัมมัดหลังได้รับแจ้งล่วงหน้าจากพันธมิตรของท่านในมักกะฮ์ สั่งให้ผู้ติดตามเสริมกำลังมะดีนะฮ์ด้วยสนามเพลาะ ตามคำแนะนำของซัลมาน อัลฟาริซี[150] ชาวยิวบะนูกุร็อยเซาะฮ์ได้ช่วยเหลือด้วยการขุดสนามเพลาะ และให้มุสลิมยืมเครื่องมือใช้[151][152][153] ฝ่ายกุร็อยช์และพันธมิตรที่ไม่คุ้นเคยกับการทำสงครามสนามเพลาะจึงต้องทำการปิดล้อมที่ยืดเยื้อ มุฮัมมัดใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ด้วยใช้การเจรจาอย่างลับ ๆ กับเผ่าเฆาะเฏาะฟานให้ไปสร้างความปั่นปวนในกลุ่มศัตรู เมื่อสภาพอากาศย่ำแย่ ขวัญกำลังใจของชาวกุเรชและพันธมิตรจึงเสื่อมถอยลง นำไปสู่การถอนทัพ[147] การล้อมครั้งนี้มีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตน้อย โดยฝั่งมุสลิมได้รับความสูญเสียเพียง 5 ถึง 6 คน ส่วนฝ่ายล้อมเมืองเสียเพียง 3 คน[154][155]

การสังหารหมู่บะนูกุร็อยเซาะฮ์

[แก้]

สนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮ์

[แก้]
กะอ์บะฮ์ในมักกะฮ์เป็นจุดศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจกับศาสนามาอย่างยาวนาน หลังจากมุฮัมมัดมาถึงมะดีนะฮ์ 17 เดือน สถานที่นี้จึงได้กลายเป็นกิบลัตสำหรับละหมาดของชาวมุสลิม ตัวกะอ์บะฮ์มีการสร้างใหม่หลายรอบ โดยอาคารหลังปัจจุบันสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1629 ซึ่งเป็นการสร้างทับอาคารหลังเก่าที่มีอายุถึง ค.ศ. 683[156]

ในช่วงต้น ค.ศ. 628 หลังจากที่มุฮัมมัดฝันถึงการแสดวบุญในมักกะฮ์โดยไร้แรงต่อต้าน ท่านจงเริ่มต้นการเดินทาง โดยแต่งกายด้วยชุดแสวงบุญตามธรรมเนียมและมีผู้ติดตามกลุ่มหนึ่งติดตามไปด้วย[157] ก่อนเดินทางถึงฮุดัยบิยะฮ์ พวกเขาเผชิญหน้ากับตัวแทนของชาวกุร็อยช์ที่ตั้งคำถามถึงความตั้งใจของพวกเขา มุฮัมมัดอธิบายว่าพวกเขามาเพื่อแสดงความเคารพต่อกะอ์บะฮ์ ไม่ใช่สู้รบ[158] จากนั้นท่านจึงส่งอุษมาน ลูกของลูกพี่ลูกน้องของอะบูซุฟยาน ไปเจรจากับพวกกุร็อยช์ ขณะที่การเจรจายืดเยื้อ เริ่มมีการจุดข่าวลือเรื่องการเสียชีวิตของอุษมาน ซึ่งกระตุ้นให้มุฮัมมัดเรียกผู้ติดตามให้ต่ออายุคำสาบานแห่งความจงรักภักดี อุษมานกลับมาพร้อมกับข่าวอุปสรรคในการเจรจา มุฮัมมัดยังคงยืนหยัดในสิ่งต่อไป ท้ายที่สุด ฝ่ายกุร็อยช์จึงส่งตัวซุฮัยล์ อิบน์ อัมร์ ทูตที่มีอำนาจต่อรองเต็มที่ ในที่สุด หลังจากหารือกันอย่างยาวนาน ก็มีการประกาศใช้สนธิสัญญานี้[159] โดยมีเงื่อนไข ดังนี้:

  1. สัญญาสงบศึกระหว่างสองฝ่ายเป็นเวลา 10 ปี
  2. ถ้าชาวกุร็อยช์เขามาหาฝ่ายมุฮัมมัดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้คุ้มครอง เขาจะต้องถูกส่งกลับไป แต่ถ้ามุสลิมมาหาชาวกุร็อยช์ เขาจะไม่ต้องถูกส่งกลับไปหามุฮัมมัด
  3. ชนเผ่าใดก็ตามที่สนใจสร้างพันธมิตรกับมุฮัมมัดหรือกุร็อยช์มีอิสระที่จะทำเช่นนั้นได้ พันธมิตรเหล่านี้ยังได้รับการคุ้มครองผ่านสัญญาสงบศึกสิบปี
  4. ฝ่ายมุสลิมต้องเดินทางกลับมะดีนะฮ์ กระนั้น พวกเขาได้รับอนุญาตให้ทำอุมเราะฮ์ในปีถัดไป[159][158]

การรุกรานค็อยบัร

[แก้]

ทำอุมเราะฮ์และยุทธการที่มุอ์ตะฮ์

[แก้]

ช่วงปีสุดท้าย

[แก้]

การพิชิตมักกะฮ์

[แก้]
ภาพวาดมุฮัมมัด (คนที่คลุมใบหน้า) เดินทัพไปมักกะฮ์ จาก Siyer-i Nebi เอกสารตัวเขียนออตโตมันคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในนี้ยังแสดงทูตสวรรค์ญิบรีล มีกาอิล อิสรอฟีล และอิสรออีลด้วย

สนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮ์ถูกใช้แค่ 2 ปี[160][161]เพราะเผ่าบนูคุซาอะฮ์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับมุฮัมมัด ในขณะที่ศัตรูของพวกเขาซึ่งเป็นเผ่าบนูบักร์ได้เป็นพันธมิตรกับมักกะฮ์[160][161] เผ่าบนูบักร์ได้โจมตีเผ่าคุซาอะฮ์ในเวลากลางคืน และฆ่าไปบางคน[160][161] พวกมักกะฮ์ได้ช่วยเหลือบนูบักร์อย่างดี และในบางรายงานกล่าวว่า มีพวกมักกะฮ์บางคนเข้าร่วมด้วย[160] หลังจากเหตุการณ์นั้น มุฮัมมัดได้ส่งจดหมายแก่ชาวมักกะฮ์ โดยมีสามเงื่อนไข และต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ: พวกมักกะฮ์อาจต้องจ่ายด้วยเลือดสำหรับการฆ่าคนจากเผ่าบนูคุซาอะฮ์, ประกาศปฏิเสธการกระทำของพวกบนูบักร์ หรือทำให้สนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮ์เป็นโมฆะ[162]

พวกมักกะฮ์ได้เลือกข้อสุดท้าย (สัญญาเป็นโมฆะ)[162] จากนั้นพวกเขาจึงรู้ถึงความผิดพลาด และส่งอบูซุฟยานไปเพื่อทำสัญญาใหม่ แต่มุฮัมมัดปฏิเสธ

มุฮัมมัดเรื่มเตรียมการพิชิตขึ้นในปีค.ศ. 630[163] มุฮัมมัดเดินทางไปมักกะฮ์พร้อมกับมุสลิม 10,000 คน แล้วควบคุมมักกะฮ์ได้[164] ท่านประกาศนิรโทษกรรมแก่ทุกคน ยกเว้นชายและหญิง 10 คนที่ "มีความผิดจากการฆ่าคนหรืออื่น ๆ หรือก่อสงครามและทำลายสันติภาพ"[165] บางคนถูกให้อภัยในภายหลัง[166] ชาวมักกะฮ์ส่วนใหญเข้ารับอิสลาม และมุฮัมมัดเริ่มดำเนินการทำลายรูปปั้นเทพเจ้าอาหรับทั้งหมดจากข้างในและรอบกะอ์บะฮ์[167][168] รายงานจากอิบน์อิสฮักกับอัลอัซรอดี มุฮัมมัดที่ได้งดเว้นภาพหรือเฟรสโกของพระแม่มารีย์กับพระเยซู แต่ในรายงานอื่นกล่าวว่า ภาพทุกรูปถูกลบหมด[169] ในอัลกุรอานได้กล่าวถึงเหตุการณ์พิชิตมักกะฮ์[170][171]

ปราบฮะวาซินและษะกีฟกับการเดินทางไปที่ตะบูก

[แก้]
การพิชิตของมุฮัมมัด (เส้นเขียว) และเคาะลีฟะฮ์รอชิดูน (เส้นดำ) พร้อมจักรวรรดิไบแซนไทน์ (เหนือและตะวันตก) กับจักรวรรดิซาเซเนียน (ตะวันออกเฉียงเหนือ)

หลังได้ยินว่ามักกะฮ์ตกเป็นของมุสลิมแล้ว บะนูฮะวาซินจึงรวบรวมทั้งเผ่าให้ต่อสู้[172] ประมาณการว่ามีนักรบประมาณ 4,000 นาย[173][174] มุฮัมมัดนำทัพ 12,000 นายไปโจมตี แต่พวกเขากลัับจู่โจมท่านที่วาดีฮุนัยน์[175] ฝ่ายมุสลิมเอาชนะพวกเขาและยึดบรรดาผู้หญิง เด็ก ๆ และสัตว์หลายตัวของพวกเขาไป[176] จากนั้นมุฮัมมัดหันความสนใจไปที่อัฏฏออิฟ นครที่มีชื่อเสียงในด้านไร่องุ่นและสวน ท่านสั่งให้สวนเหล่านี้ต้องถูกทำลาย และล้อมนครที่มีกำแพงล้อมรอบ หลังประสบความล้มเหลวในการทำลายฝ่ายป้องกันเป็นเวลา 15–20 วัน ท่านจึงละทิ้งความพยายามดังกล่าว[177][178]

เมื่อท่านแบ่งทรัพย์ที่ปล้นจำนวนมากมาจากฮุนัยน์ให้แก่เหล่าทหาร เผ่าฮะวาซินที่เหลือหันไปเข้ารับอิสลาม[179] และวิงวอนมุฮัมมัดให้ปล่อยตัวเด็กและผู้หญิงของพวกเขา โดยเตือนให้ท่านรำลึกว่าเคยได้รับการดูแลจากผู้หญิงบางคนเมื่อตอนยังเป็นทารก ท่านปฏิบัติตามแต่ยังคงยึดส่วนปล้นที่เหลือไว้ คนของท่านบางคนคัดค้านการแบ่งส่วนของตน ดังนั้นท่านจึงชดเชยแต่ละคนด้วยด้วยอูฐหกตัวจากการปล้นในครั้งหลัง[180] มุฮัมมัดแบ่งทรัพย์ที่ยึดได้ในสงครามจำนวนมากให้แก่ผู้ที่หันมานับถือศาสนาใหม่จากเผ่ากุร็อยช์ อะบูซุฟยานกับบุตร 2 คน มุอาวิยะฮ์กับยะซีด แต่ละคนได้รับอูฐ 100 ตัว[181][182] ชาวอันศอรที่เข้าสู้รบอย่างกล้าหาญในยุทธการนี้ แต่แทบไม่ได้รับรางวัลใด รู้สึกไม่พอใจต่อสิ่งนี้[183][184]

ประมาณเกือบ 10 เดือนหลังยึดครองมักกะฮ์ มุฮัมมัดจึงนำกองทัพไปโจมตีมณฑลชายแดนซีเรียของไบแซนไทน์ที่ร่ำรวย[185][186] โดยมีการเสนอแรงจูงใจหลายประการ ซึ่งรวมถึงการแก้แค้นความพ่ายแพ้ที่มุอ์ตะฮ์และรับของที่ถูกปล้นจำนวนมาก[187][188] เนื่องจากความแห้งแล้ง และความร้อนแรงในขณะนั้น มุสลิมบางส่วนจึงไม่เข้าร่วมสงคราม สิ่งนี้นำไปสู่การประทานโองการอัลกุรอาน 9:38 ที่ตำหนิคนเกียจคร้านเหล่านั้น[189] เมื่อมุฮัมมัดและกองทัพของท่านเดินทางถึงตะบูก กลับไม่มีกองกำลังศัตรูอยู่เลย[190] อย่างไรก็ตาม ท่านสามารถบังคับให้หัวหน้าเผ่าท้องถิ่นบางคนยอมรับการปกครองของท่านและจ่ายญิซยะฮ์ กองทัพภายใต้การนำของคอลิด อิบน์ อัลวะลีดที่ท่านส่งไปโจมตี ก็ได้รับสินทรัพย์สงครามบางส่วน ซึ่งรวมถึงอูฐ 2,000 ตัวกับโค 800 ตัว[191]

การเข้ารับอิสลามของฮะวาซินทำให้อัฏฏออิฟสูญเสียพันธมิตรหลักสุดท้าย[192] หลังจากอดกลั้นต่อการโจรกรรมและการโจมตีด้วยความหวาดกลัวอย่างไม่หยุดยั้งจากฝ่ายมุสลิมหลังการปิดล้อมนานถึงหนึ่งปี ท้ายที่สุด ชาวอัฏฏออิฟที่รู้จักกันในชื่อบะนูษะกีฟ เข้าถึงจุดเปลี่ยน และยอมรับว่าการเข้ารับอิสลามเป็นเส้นทางที่สมเหตุสมผลที่สุดสำหรับพวกตน[193][194][195]

ฮัจญ์อำลา

[แก้]
ภาพวาดใน The Remaining Signs of Past Centuries ของอัลบิรูนีที่วาดโดยผู้ไม่ประสงค์นาม แสดงมุฮัมมัดสั่งห้ามนะซีอ์ในช่วงฮัจญ์อำลา ฉบับสำเนาออตโตมันในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จากเอกสารตัวเขียน (Edinburgh codex) คริสต์ศตวรรษที่ 14 (จักรวรรดิข่านอิล)

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 631 มุฮัมมัดได้รับโองการที่ให้พวกบูชารูปปั้นได้รับความกรุณาเป็นเวลาสี่เดือน หลังจากนั้นชาวมุสลิมจะโจมตี สังหาร และปล้นพวกเขาไม่ว่าจะพบกันที่ไหนก็ตาม[196][197]

ในช่วงทำฮัจญ์ใน ค.ศ. 632 มุฮัมมัดเป็นผู้นำพิธีและให้โอวาทด้วยตนเอง บรรดาประเด็นสำคัญได้แก่ ห้ามกินดอกเบี้ยกับความอาฆาตพยาบาทที่เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมในอดีตจากยุคก่อนอิสลาม ความเป็นภราดรภาพของมุสลิมทุกคน และการใช้เดือนจันทรคติสิบสองเดือนโดยไม่มีการทดปฏิทิน[198][199] ท่านยังยืนยันอีกครั้งว่าสามีมีสิทธิ์ที่จะลงโทษทางวินัย และทุบตีภรรยาโดยไม่ต้องใช้กำลังมากเกินไป หากพวกเธอนอกใจหรือประพฤติตนไม่เหมาะสม ท่านอธิบายว่าภรรยาได้รับความไว้วางใจจากสามี และสมควรได้รับอาหารและเสื้อผ้า หากพวกเธอเชื่อฟัง นั่นเพราะพวกเธอเป็นของขวัญจากพระผู้เป็นเจ้า...[200]

เสียชีวิตและที่ฝังศพ

[แก้]
การเสียชีวิตของมุฮัมมัด ภาพจาก Siyer-i Nebi, ป. ค.ศ. 1595

หลังละหมาดในที่ฝังศพในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 632 มุฮัมมัดประสบกับอาการปวดศีรษะสาหัสจนทำให้ท่านร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด.[201][202] ท่านยังคงนอนหลับกับภรรยาคืนละคน[203] แต่เป็นลมในกระท่อมของมัยมูนะฮ์[204] ท่านร้องขอบรรดาภรรยาของท่านอนุญาตให้ท่านอยู่ในกระท่อมอาอิชะฮ์ ท่านเดินโดยให้อะลีกับฟัฎล์ อิบน์ อับบาสพยุง เนื่องจากขาสั่น บรรดาภรรยากับอับบาส ลุงของท่าน ให้ยารักษาอะบิสซีเนียในตอนที่ท่านไม่รู้สึกตัว[205] เมื่อท่านฟื้นก็ถามถึงเรื่องนั้น และพวกเขาอธิบายว่า พวกเขากลัวท่านเป็นเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ท่านตอบว่าอัลลอฮ์จะไม่ทรมานท่านด้วยโรคร้ายเช่นนี้ และสั่งให้ผู้หญิงทุกคนรับการรักษาด้วย[206] ข้อมูลหลายแหล่ง ซึ่งรวมถึงเศาะฮีฮ์ อัลบุคอรี ระบุว่า มุฮัมมัดกล่าวว่าท่านรู้สึกว่าเส้นเลือดใหญ่ของท่านขาดเนื่องจากอาหารที่ท่านกินที่ค็อยบัร[207][208] จากนั้น มุฮัมมัดเสียชีวิต ณ วันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 632 ในช่วงวาระสุดท้าย มีรายงานท่านพูดว่า:

โอ้อัลลอฮ์ โปรดให้อภัยและเมตตาข้า และให้ข้าอยู่ร่วมกับสหายที่สูงส่งด้วยเถิด[209][210][211]

— มุฮัมมัด

อัลเฟรด ที. เวลช (Alfred T. Welch) นักประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่าการเสียชีวิตของมุฮัมมัดมีสาเหตุจากไข้มะดีนะฮ์ ซี่งมีอาการรุนแรงขึ้นจากความเหนื่อยล้าทางร่างกายและจิตใจ[212]

ร่างของมุฮัมมัดถูกฝังในบ้านของอาอิชะฮ์[12][213][214] ในรัชสมัยอัลวะลีดที่ 1 ของอุมัยยะฮ์ มีการขยายมัสยิดอันนะบะวีจนครอบพื้นที่สุสานมุฮัมมัด[215] โดมเขียวบนสุสานสร้างขึ้นโดยสุลต่านอัลมันศูร เกาะลาวูนแห่งมัมลูกในคริสต์ศตวรรษที่ 13 แม้ว่าสีเขียวบนโดมได้รับการทาสีในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในรัชสมัยสุลต่านสุลัยมานผู้เกรียงไกรของออตโตมัน[216] สุสานที่ติดกับมุฮัมมัดเป็นของผู้ติดตามของท่าน (เศาะฮาบะฮ์) คือ เคาะลีฟะฮ์สององค์แรก (อะบูบักร์และอุมัร) และห้องว่างที่มุสลิมเชื่อว่าจะมีการฝังอีซาตรงนี้[214][217][218]

เมื่อซะอูด อิบน์ อับดุลอะซีซยึดครองมะดีนะฮ์ใน ค.ศ. 1805 เพชรและทองที่ประดับอยู่หน้าสุสานถูกนำออกไป[219] ผู้ที่นับถือนิกายวะฮาบีย์ทำลายโดมสุสานในมะดีนะฮ์เกือบทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยงการเลื่อมใสในสุสาน[219] และมีรายงานว่าสุสานของมุฮัมมัดรอดได้อย่างหวุดหวิด[220] และเหตุการณ์ที่คล้ายกันเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1925 เมื่อกองกำลังติดอาวุธซาอุดียึดเมืองอีกครั้ง[221][222][223] ในการตีความอิสลามแบบวะฮาบีย์ การฝังศพควรจัดในหลุมศพที่ไม่มีเครื่องหมาย[220] กระนั้น ผู้แสวงบุญหลายคนยังคงทำการซิยาเราะฮ์—เยี่ยมชมเชิงพิธี—ที่สุสานอยู่ดี แม้ว่าทางฝั่งซาอุดีจะไม่ยอมรับสิ่งนี้[224][225]

มัสยิดอันนะบะวี ("มัสยิดของท่านศาสดา") ในมะดีนะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย มีโดมเขียวที่สร้างเหนือสุสานมุฮัมมัดอยู่ตรงกลางภาพ

หลังมุฮัมมัดเสียชีวิต

[แก้]
การขยายตัวของรัฐเคาะลีฟะฮ์ ค.ศ. 622–750:
  มุฮัมมัด ค.ศ. 622–632
  รัฐเคาะลีฟะฮ์รอชิดูน ค.ศ. 632–661
  รัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์ ค.ศ. 661–750

หลังมุฮัมมัดเสียชีวิต มีความขัดแย้งในเรื่องที่ใครจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของท่าน[13][14] อุมัร เศาะฮาบะฮ์ที่มีชื่อเสียง เลือกอะบูบักร์ เพื่อนและผู้มีส่วนร่วมกับมุฮัมมัด อะบูบักร์ได้รับการยืนยันเป็นเคาะลีฟะฮ์องค์แรกพร้อมเสียงสนับสนุน การเลือกครั้งนี้ถูกโต้แย้งจากเศาะฮาบะฮ์บางส่วนที่ยกให้อะลี ลูกเขยและลูกพี่ลูกน้องของท่าน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สืบทอดของมุฮัมมัดที่ฆอดิรคุมม์ อะบูบักร์สั่งให้โจมตีกองทัพไบแซนไทน์ (หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออก) ทันทีเนื่องจากความพ่ายแพ้ช่วงก่อนหน้า แม้ว่าในตอนแรกท่านจะกำจัดกบฏชนเผ่าอาหรับในเหตุการณ์ที่นักประวัติศาสตร์มุสลิมยุคหลังระบุเป็นสงครามริดดะฮ์ หรือ "สงครามต่อผู้ละทิ้งศาสนา"[g]

ตะวันออกกลางยุคก่อนอิสลามมีจักรวรรดิไบแซนไทน์และซาเซเนียนที่เป็นใหญ่ สงครามโรมัน–เปอร์เซียสร้างความเสียหายให้กับภูมิภาคนี้ ทำให้จักรวรรดิทั้งสองไม่เป็นที่นิยมในชนเผ่าท้องถิ่น ที่มากไปกว่านั้น ในดินแดนที่จะถูกฝ่ายมุสลิมพิชิต ชาวคริสต์หลายคน (เนสตอเรียน, Monophysite, Jacobites และคอปต์) ไม่พอใจต่อคริสต์จักรอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ที่มองพวกตนเป็นพวกนอกรีต กองทัพมุสลิมเข้าพิชิตเมโสโปเตเมีย ซีเรีย อียิปต์ของไบแซนไทน์[226] พื้นที่ส่วนใหญ่ของเปอร์เซียภายในทศวรรษ และสถาปนารัฐเคาะลีฟะฮ์รอชิดูน

ครัวเรือน

[แก้]
สุสานของมุฮัมมัดเคยตั้งอยู่ในบ้านของอาอิชะฮ์ ภรรยาคนที่สาม (มัสยิดอันนะบะวี มะดีนะฮ์)

ชีวิตของท่านแบ่งออกเป็นสองช่วง คือ: ก่อนฮิจเราะห์ (อพยพ) ในมักกะฮ์ (ตั้งแต่ ค.ศ. 570 ถึง 622) และหลังฮิจเราะห์ในมะดีนะฮ์ (ตั้งแต่ ค.ศ. 622 ถึง 632) กล่าวกันว่าท่านมีภรรยาถึง 13 คน (ถึงแม้ว่าอีกสองคน คือ ร็อยฮานะฮ์ บินต์ ซัยด์กับมาริยะฮ์ อัลกิบฏียะฮ์ มีรายงานที่กำกวมว่าเป็นภรรยาหรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันโดยไม่ได้สมรส)[h][227]

ตอนอายุ 25 ปี มุฮัมมัดแต่งงานกับเคาะดีญะฮ์ บินต์ คุวัยลิดที่มีอายุ 40 ปี[228] โดยอยู่กินด้วยกันเป็นเวลา 25 ปี และถือเป็นการแต่งงานที่มีความสุข[229] หลังการแต่งงานในครั้งนั้น ท่านไม่ได้แต่งงานกับใครอีกเลย[230][231] หลังจากเคาะดีญะฮ์เสียชีวิต เคาละฮ์ บินต์ ฮากิมได้แนะนำให้ท่านแต่งงานกับเซาดะฮ์ บินต์ ซัมอะฮ์ หญิงมุสลิมหม้าย หรืออาอิชะฮ์ ลูกสาวของอุมมุรูมานกับอะบูบักร์ กล่าวกันว่าท่านขอการจัดเตรียมการแต่งงานกับทั้งคู่[232] ข้อมูลสมัยคลาสสิกระบุว่า มุฮัมมัดแต่งงานกับอาอิชะฮ์ตอนที่เธออายุ 6–7 ขวบ โดยมีการจัดพิธีแต่งงานโดยสมบูรณ์ในภายหลังตอนที่เธอมีอายุ 9 ขวบ และท่านมีอายุ 53 ปี[i]

มุฮัมมัดทำงานบ้านต่าง ๆ เช่น เตรียมอาหาร เย็บเสื้อ และซ่อมรองเท้า ท่านได้ให้ภรรยาคุ้นเคยต่อการพูด ท่านฟังคำแนะนำของพวกเธอ และภรรยาของท่านได้ถกเถียงและแม้แต่โต้แย้งกับท่าน[233][234][235]

เคาะดีญะฮ์มีลูกสาว 4 คนกับมุฮัมมัด (รุก็อยยะฮ์ บินต์ มุฮัมมัด, อุมมุกุลษูม บินต์ มุฮัมมัด, ซัยนับ บินต์ มุฮัมมัด, ฟาฏิมะฮ์) และลูกชาย 2 คน (อับดุลลอฮ์ อิบน์ มุฮัมมัด กับกอซิม อิบน์ มุฮัมมัด ทั้งคู่เสียชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก) ลูกทุกคนเสียชีวิตก่อนหน้าท่าน ยกเว้นฟาฏิมะฮ์ ลูกสาวคนเดียว[236] นักวิชาการชีอะฮ์บางคนโต้แย้งว่าฟาฏิมะฮ์เป็นลูกสาวคนเดียวของมุฮัมมัด[237] มาริยะฮ์ อัลกิบฏียะฮ์ ให้กำเนิดลูกชายคนเดียวชื่ออิบรอฮีม อิบน์ มุฮัมมัด ซึ่งเสียชีวิตตอนอายุ 2 ขวบ[236]

ภรรยา 9 คนของท่านยังมีชีวิตต่อหลังจากที่ท่านเสียชีวิต[227] อาอิชะฮ์ ผู้กลายเป็นที่รู้จักในฐานะภรรยาคนโปรดของมุฮัมมักในธรรมเนียมซุนนี มีชีวิตอยู่หลังจากท่านหลายทศวรรษ และช่วยรายงานฮะดีษของศาสดามุฮัมมัดในนิกายซุนนี[232]

ซัยด์ อิบน์ ฮาริษะฮ์เป็นทาสที่เคาะดีญะฮ์ให้มุฮัมมัด เขาถูกซื้อตัวจากฮะกีม อิบน์ ฮิซาม หลานชายของเธอ ที่ตลาดอุกาซ[238] จากนั้น ซัยด์กลายเป็นบุตรบุญธรรมของทั้งคู่ แต่ภายหลังปฎิเสธสถานะนี้เมื่อมุฮัมมัดจะแต่งงานกับซัยนับ บินต์ ญะฮช์ อดีตภรรยาของซัยด์[239] ผลสรุปของบีบีซีรายงานไว้ว่า "ศาสดามุฮัมมัดไม่ได้ต้องการเลิกทาส และซื้อ ขาย จับ และครองทาสด้วยตนเอง แต่ท่านได้ยืนหยัดว่านายทาสควรดูแลทาสให้ดีและเน้นถึงผลบุญของการปล่อยทาส มุฮัมมัดได้ดูแลทาสเหมือนกับมนุษย์ทั่ว ๆ ไป..."[240]

สิ่งสืบทอด

[แก้]

ธรรมเนียมของมุสลิม

[แก้]

หลังจากประกาศความเป็นเอกะของพระเจ้า ความเชื่อเรื่องการเป็นศาสนทูตของมุฮัมมัดเป็นมุมมองหลักในความเชื่ออิสลาม มุสลิมทุกคนกล่าวชะฮาดะฮ์ว่า: "ข้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และข้าขอปฏิญาณว่ามุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์" ชะฮาดะฮ์นี้เป็นหลักความเชื่อพื้นฐานของศาสนาอิสลาม ชะฮาดะฮ์เป็นคำแรกที่ทารกแรกเกิดจะได้ยิน เด็ก ๆ จะได้รับการสอนทันทีและจะท่องจำจนกระทั่งเสียชีวิต มุสลิมจะกล่าวชะฮาดะฮ์ซ้ำในอะซานและเวลาละหมาด คนที่ไม่ใช่มุสลิมที่หวังเข้ารับอิสลามจะต้องกล่าวคำปฏิญาณนี้ก่อน[241]

อักษรวิจิตรที่แปลว่า "ขอความโปรดปรานแห่งอัลลอฮ์ และความสันติจงมีแด่ท่าน" มักใช้ต่อหลังจากชื่อของศาสดามุฮัมมัด ตัวอักษรนี้ได้รับการระบุรหัสเป็นตัวแฝดในยูนิโคดจุดที่ U+FDFA[242]

ในศาสนาอิสลามเชื่อว่ามุฮัมมัดเป็นศาสดาคนสุดท้ายที่พระเจ้าส่งลงมา[243][244] อัลกุรอานยืนยันว่าปาฏิหารย์เดียวที่พระเจ้าประทานให้มุฮัมมัดคือตัวอัลกุรอานเอง[112][245][246] และให้เหตุผลหลายประการว่าทำไมท่านแสดงปาฏิหารย์อื่น ๆ ในตอนที่ศัตรูของท่านร้องขอไม่ได้[81][82] อย่างไรก็ตาม งานเขียนยุคหลังอย่างฮะดีษและซีเราะฮ์อ้างถึงปาฏิหาริย์หรือเหตุการณ์เหนือธรรมชาติหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับมุฮัมมัด หลังจากที่ท่านเสียชีวิต[246] หนึ่งในนั้นคือการแยกดวงจันทร์ที่อิบน์ อับบาส ลูกพี่ลูกน้องของมุฮัมมัดรายงานไว้ ที่จริงคือจันทรุปราคา แต่เหตุการณ์นี้กลับกลายเป็นการแยกตัวของดวงจันทร์แบบตามตัวอักษรในการตีความภายหลัง[82]

ซุนนะฮ์ คือการกระทำ และคำพูดของมุฮัมมัด (บันทึกไว้ในฮะดีษ) ซึ่งครอบคลุมไปถึงกิจกรรมและความเชื่อตั้งแต่พิธีกรรมทางศาสนา สุขอนามัยส่วนบุคคล และการฝังศพผู้เสียชีวิต จนถึงคำถามเกี่ยวกับความรักระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสืบทอดของวัฒนธรรมมุสลิม ในการทักทายที่ศาสดามุฮัมมัดได้กล่าวให้มุสลิมกล่าวเมื่อเจอกันว่า "ขอความสันติสุข จงมีแด่ท่าน" (อาหรับ: อัสสลามุอะลัยกุม) ซึ่งชาวมุสลิมทั่วโลกใช้งานกัน พิธีกรรมสำคัญของอิสลามส่วนใหญ่อย่างการละหมาด 5 เวลาทุกวัน ถือศีลอด และทำพิธีฮัจญ์ พบเฉพาะในฮะดีษ และไม่มีในอัลกุรอาน[247]

คำกล่าวชะฮาดะฮ์ของมุสลิมที่แปลได้ว่า: "ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์" ในพระราชวังโทพคาปึ อิสตันบูล ประเทศตุรกี

มุสลิมมีการกล่าวถึงความรักและความเลื่อมใสต่อมุฮัมมัด ชีวประวัติของมุฮัมมัด การอธิษฐานและปาฏิหาริย์ของท่านมักถูกกล่าวเป็นบทกวี[248] ในกุรอานกล่าวถึงมุฮัมมัดว่าเป็น "ผู้มีเมตตา (เราะฮ์มัต) แก่มนุษยชาติ"[249][12] วันเกิดของมุฮัมมัดได้รับการฉลองกันทั่วโลกอิสลาม ยกเว้นพวกวะฮาบีย์ที่ถือว่าเป็นบิดอะฮ์[250] เมื่อมุสลิมคนใดกล่าวหรือเขียนชื่อของมุฮัมมัด ส่วนใหญ่มักตามดามด้วยคำว่า ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม (ขอความโปรดปรานแห่งอัลลอฮฺ และความสันติจงมีแด่ท่าน)[251] ในการเขียนปกติ บางครั้งถูกย่อเป็น ศ็อลฯ (ภาษาอาหรับ) ส่วนในเอกสารใช้อักษรวิจิตรขนาดเล็ก ()

รูปลักษณ์และการพรรณา

[แก้]

แหล่งข้อมูลต่าง ๆ นำเสนอรายละเอียดของมุฮัมมัดในช่วงรุ่งโรจน์ของชีวิตที่น่าจะเป็นไปได้ ท่านสูงกว่าความสูงโดยเฉลี่ยเล็กน้อย มีรูปร่างแข็งแรงและหน้าอกกว้าง คอยาว มีศีรษะใหญ่และมีหน้าผากกว้าง ดวงตาได้รับการอธิบายว่ามืดมนและเข้มข้น เน้นด้วยขนตายาวสีเข้ม ผมมีสีดำและไม่หยิกจนเกินไป ยาวห้อยคล้องหู หนวดเคราที่ยาวและหนาของท่านโดดเด่นตัดกับหนวดที่ขลิบอย่างเรียบร้อย จมูกยาวงุ้มและมีปลายแหลม ฟันเว้นระยะห่างกันดี ใบหน้าได้รับการอธิบายว่าดูเปรื่องปราด และผิวใสของท่านมีขนตั้งแต่คอจนถึงสะดือ แม้จะโน้มตัวเล็กน้อย แต่ก้าวย่างของท่านก็รวดเร็วและมีจุดมุ่งหมาย[252] ริมฝีปากและแก้มของท่านถูกหนังสติ๊กยิงจนฉีกขาดในช่วงยุทธการที่อุฮุด[253][254] ภายหลังมีการการจี้แผลนั้น ทิ้งแผลเป็นบนใบหน้า[255]

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฮะดีษห้ามวาดภาพสิ่งมีชีวิต ศิลปะทางศาสนาอิสลามส่วนใหญ่เน้นไปที่คำศัพท์[256][257] ชาวมุสลิมโดยทั่วไปจึงเลี่ยงการวาดภาพมุฮัมมัด และมัสยิดได้รับการตกแต่งด้วยอักษรวิจิตร โองการอัลกุรอาน หรือรูปทรงเรขาคณิต[256][258] ปัจจุบัน ข้อห้ามการวาดภาพมุฮัมมัดที่มีจุดประสงค์หลีกเลี่ยงการสักการะมุฮัมมัดแทนอัลลอฮ์ พบเห็นในมุสลิมนิกายซุนนี (85%–90% ของมุสลิมทั้งหมด) และอะห์มะดียะฮ์ (1%) เคร่งครัดในเรื่องเหล่านี้มากกว่าในบรรดาชีอะฮ์ (10%–15%)[259] ในขณะที่ทั้งซุนนีและชีอะฮ์เคยวาดภาพมุฮัมมัดในอดีต[260] ภาพวาดมุฮัมมัดนั้นหายาก[256] ส่วนใหญ่จำกัดอยู่เพียงภาพขนาดเล็กในสื่อส่วนตัวและสื่อชั้นนำเท่านั้น และนับจากนั้นมีภาพประมาณ 1500 ภาพที่ส่วนใหญ่แสดงมุฮัมมัดคลุมหน้า หรือแสดงรูปเปลวเพลิงเป็นสัญลักษณ์[258][261]

การเดินเข้ามักกะฮ์และการทำลายรูปปั้น ในเอกสารตัวเขียนนี้ มุฮัมมัดแสดงเป็นรูปเปลวเพลิง พบใน Hamla-i Haydari ของ Bazil, ชัมมูและกัศมีร์ ประเทศอินเดีย, ค.ศ. 1808

ปัจจุบัน มีการทำสำเนาประวัติศาสตร์และรูปภาพสมัยใหม่หลายล้านภาพในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะในประเทศตุรกีและอิหร่าน ทั้งบนโปสเตอร์ ไปรษณียบัตร และแม้แต่ในหนังสือโต๊ะกาแฟ แต่ไม่เป็นที่รู้จักในส่วนอื่น ๆ ของโลกอิสลาม และเมื่อมุสลิมจากประเทศอื่น ๆ พบสิ่งนี้ ก็อาจทำให้เกิดความตกตะลึงและขุ่นเคืองเป็นอย่างมาก[260][261]

การปฏิรูปสังคมอิสลาม

[แก้]

วิลเลียม มอนต์โกเมอรี วัตต์รายงานว่า ศาสนาสำหรับมุฮัมมัดไม่ได้ไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัวและส่วนบุคคล แต่เป็น "การตอบสนองโดยรวมถึงบุคลิกภาพของท่านต่อสถานการณ์ทั้งหมดที่ท่านพบด้วยตัวเอง ท่านตอบสนอง [ไม่เพียงแต่]... ในด้านศาสนาและความรู้ของสถานการณ์ แต่ยังรวมถึงแรงกดดันทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ตัวเมืองมักกะฮ์ร่วมสมัยต้องเผชิญ"[262] เบอร์นาร์ด ลูอิสกล่าวว่ามีธรรมเนียมทางการเมืองที่สำคัญสองประการในศาสนาอิสลาม—มุฮัมมัดในฐานะรัฐบุรุษในมะดีนะฮ์ และมุฮัมมัดในฐานะกบฏในมักกะฮ์ ในมุมมองของเขา อิสลามคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อมีการแนะนำในสังคมใหม่ คล้ายกับการปฏิวัติ[263]

นักประวัติศาสตร์โดยทั่วไปยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมของอิสลามในขอบเขตอย่างหลักประกันสังคม โครงสร้างครอบครัว ความเป็นทาส และสิทธิสตรีกับเด็กดีกว่าสถานะเดิมของสังคมอาหรับ[263][j] เช่น ลูอิสรายงานว่า อิสลาม "ขั้นแรกประณามสิทธิพิเศษชนชั้นสูง ปฏิเสธลำดับชั้น และได้นำสูตรอาชีพที่เปิดรับผู้มีความสามารถเข้ามาใช้"[263] ถ้่อยคำของมุฮัมมัดเปลี่ยนแปลงสังคมและระเบียบศีลธรรมของชีวิตในคาบสมุทรอาหรับ สังคมมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงการรับรู้อัตลักษณ์ โลกทัศน์ และลำดับขั้นของคุณค่า[264][ต้องการเลขหน้า] การปฏิรูปเศรษฐกิจกล่าวถึงชะตากรรมของคนยากจนที่เคยเป็นปัญหาในมักกะฮ์ยุคก่อนอิสลาม[265] อัลกุรอานกำหนดให้ต้องชำระภาษีบริจาคทาน (ซะกาต) เพื่อประโยชน์ของคนยากจน เมื่ออำนาจของมุฮัมมัดเพิ่มมากขึ้น ท่านจึงเรียกร้องให้ชนเผ่าที่ประสงค์จะเป็นพันธมิตรกับท่านปฏิบัติซะกาตเป็นการเฉพาะ[266][267]

การยกย่องของชาวยุโรป

[แก้]
มุฮัมมัดใน La vie de Mahomet โดย M. Prideaux (1699). ท่านถือดาบและจันทร์เสี้ยวในขณะที่เหยียบบนลูกโลก ไม้กางเขน และบัญญัติ 10 ประการ

กีโยม ปงแตล (Guillaume Postel) เป็นหนึ่งในบุคคลแรกที่แสดงมุมมองของมุฮัมมัดในแง่บวก เมื่อเขาโต้แย้งว่าชาวคริสต์ควรยกย่องมุฮัมมัดเป็นศาสดาที่ถูกต้อง[12][268] ก็อทฟรีท ไลบ์นิทซ์ชื่นชมมุฮัมมัดเนื่องจาก "ท่านไม่ได้หันเหจากศาสนาธรรมชาติ"[12] อ็องรี เดอ บูแล็งวีลเยร์ (Henri de Boulainvilliers) กล่าวในหนังสือ Vie de Mahomed ของตนเองที่ตีพิมพ์หลังเสียชีวิตใน ค.ศ. 1730 ระบุถึงมุฮัมมัดเป็นผู้นำทางการเมืองที่มีพรสวรรค์ และผู้ร่างกฎหมายที่ยุติธรรม[12] เขาเสนอท่านเป็นศาสดาที่พระเจ้าส่งมาเพื่อทำให้ชาวคริสเตียนตะวันออกที่ทะเลาะวิวาทเกิดความสับสน และปลดปล่อยชาวตะวันออกจากการปกครองแบบเผด็จการของโรมันและเปอร์เซีย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความเป็นเอกภาพของพระเจ้าจากอินเดียถึงสเปน[269] วอลแตร์มีความเห็นต่อมุฮัมมัดผสมกัน: ในบทละคร Le fanatisme, ou Mahomet le Prophète เขาทำให้มุฮัมมัดเป็นตัวร้ายเป็นที่สัญลักษณ์ของความคลั่งไคล้ และในเรียงความ ค.ศ. 1748 เขาเรียกท่านว่า "คนหลอกลวงผู้ประเสริฐและร่าเริง" แต่ในการสำรวจทางประวัติศาสตร์ Essai sur les mœurs ของวอลแตร์ เขาเสนอมุฮัมมัดเป็นผู้บัญญัติกฎหมายและผู้พิชิต และเรียกท่านว่า "ผู้กระตือรือร้น"[269] ฌ็อง-ฌัก รูโซกล่าวไว้ในหนังสือ โซเชียลคอนแทร็กต์ (1762) ว่า "ปัดตำนานอันโหดร้ายของมุฮัมมัดในฐานะผู้หลอกลวงและคนโกงทิ้งไปเสีย จงนำเสนอท่านในฐานะปราชญ์ผู้บัญญัติกฎหมายที่รวมอำนาจทางศาสนาและการเมืองอย่างชาญฉลาด"[269] โกลด-แอมานุแอล เดอ ปัสโตเรต์ (Claude-Emmanuel de Pastoret) กล่าวไว้ในหนังสือ โซโรอัสเตอร์ ขงจื๊อ และมุฮัมมัด ใน ค.ศ. 1787 ซึ่งเขาเสนอชีวิต "ชายผู้ยิ่งใหญ่" ทั้งสามคนเป็น "ผู้บัญญัติกฎหมายที่ดีที่สุดของจักรวาล" และเปรียบเทียบอาชีพทั้งสามเป็นผู้ปฏิรูปศาสนากับผู้ร่างกฎหมาย[269] นโปเลียน โบนาปาร์ตชื่นชมมุฮัมมัดและอิสลาม[270] และกล่าวถึงท่านเป็นต้นแบบผู้ร่างกฎหมายและผู้พิชิต[271][272] ทอมัส คาร์ไลล์กล่าวถึง "มาโฮเหม็ด" ไว้ในหนังสือ ออนฮีโรส์ ฮีโร-เวอร์ชิพ แอนด์เดอะฮีโรอิกอินฮิสทรี (1840) ว่าเป็น "ดวงวิญญาณอันยิ่งใหญ่ที่เงียบสงบ; ท่านเป็นหนึ่งในบุคคลที่ไม่สามารถพูด แต่ อย่างจริงจังได้"[273] นักวิชาการมุสลิมหลายคนอ้างอิงการตีความของคาร์ไลล์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงนักวิชาการฝั่งตะวันตกยืนยันสถานะของมุฮัมมัดในฐานะบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์[274]

คำวิจารณ์

[แก้]

คำวิจารณ์ต่อมุฮัมมัดปรากฏขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 เมื่อมุฮัมมัดถูกประณามจากชาวอาหรับที่ไม่นับศาสนาอิสลามร่วมสมัยว่าสอนหลักเอกเทวนิยม และชนเผ่ายิวในอาระเบียจากการรับรู้ถึงการถือครองรายงานและบุคคลจากพระคัมภีร์ และการประกาศตนเองเป็น "คอตะมุนนะบียีน"[275][276][277][278] ในสมัยกลาง โลกตะวันตกและไบแซนไทน์ตราหน้าท่านเป็นศาสดาเทียม ศัตรูของพระคริสต์ หรือวาดเป็นพวกนอกรีตดังที่ปรากฏในโลกคริสเตียนเป็นบ่อยครั้ง[279][277][280][278] ข้อวิจารณ์ร่วมสมัยมักเกี่ยวข้องกับการตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของมุฮัมหมัดในฐานะศาสนทูต ความประพฤติทางศีลธรรม การแต่งงาน การเป็นเจ้าของทาส การดูแลศัตรู แนวทางเรื่องหลักคำสอน และสุขภาพจิต[279][281][282][283]

ทัศนะของศาสนาอื่น

[แก้]

ศาสนาบาไฮ

[แก้]

พระบะฮาอุลลอฮ์ ศาสดาของศาสนาบาไฮ กล่าวถึงนบีมุฮัมมัดว่าเป็นผู้เผยพระวจนะที่พระเป็นเจ้าทรงส่งมาเพื่อทำหน้าที่นำพาและให้ความรู้แก่มนุษย์ในยุคสมัยหนึ่ง เช่นเดียวกับผู้เผยพระวจนะท่านอื่น ๆ คือ พระกฤษณะ โมเสส ซาราธุสตรา พระพุทธเจ้า พระเยซู พระบาบ[284] โดยบาฮาอุลลอฮ์อ้างว่าตนเองคือผู้เผยพระวจนะที่พระเจ้าส่งมาในยุคปัจจุบัน เป็นนบีอีซาผู้กลับมาบนโลกอีกครั้งตามที่นบีมุฮัมมัดทำนายไว้ในคัมภีร์หะดีษ นอกจากนี้ยังอ้างว่าตนเองคือฮุซัยน์ อิบน์ อะลี ผู้กลับมาตามที่ชาวชีอะฮ์รอคอย[285]

ลัทธิอนุตตรธรรม

[แก้]

ลัทธิอนุตตรธรรมถือว่าอนุตตรธรรมเป็นรากเหง้าของทุกศาสนารวมทั้งศาสนาอิสลาม โดยนบีมุฮัมมัดเป็นศาสดาองค์หนึ่งที่พระแม่องค์ธรรมทรงส่งมาเพื่อโปรดเวไนยในช่วงธรรมกาลยุคแดง เช่นเดียวกับพระโคตมพุทธเจ้าและพระเยซู และยุคแดงได้สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) ปัจจุบันจึงเป็นธรรมกาลยุคขาวซึ่งมีลู่ จงอี เป็นผู้ปกครอง[286]

พระโอวาทพระอนุตตรธรรมมารดาสิบบัญญัติ (จีน: 皇母訓子十誡‏) ซึ่งเป็นคัมภีร์เล่มหนึ่งของลัทธิอนุตตรธรรม อ้างว่านบีมุฮัมมัดได้มาประทับทรงในกระบะทราย แล้วประกาศว่าการไปละหมาดที่มัสยิดนั้นเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า เพราะไม่ได้ช่วยให้เข้าถึงสัจธรรม การปฏิบัติตามอัลกุรอานก็ไม่อาจช่วยให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ แต่ต้องเข้ารับธรรมะจากวิสุทธิอาจารย์ (จีน: 明師) เท่านั้นจึงจะพบหนทางกลับสวรรค์[287][288]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. มีการเรียกชื่อท่านหลายแบบ เช่น มุฮัมมัด อิบน์ อับดุลลอฮ์, ศาสนทูตของอัลลอฮ์, ศาสดามุฮัมมัด, ศาสดาคนสุดท้ายของศาสนาอิสลาม ฯลฯ; และยังมีรูปสะกดหลาบแบบ เช่น โมฮาเหม็ด, มะฮะหมัด, มูฮาหมัด, มุหัมมัด หรือ พระมะหะหมัด, ฯลฯ
  2. Goldman 1995, p. 63, gives 8 June 632 CE, the dominant Islamic tradition. Many earlier (primarily non-Islamic) traditions refer to him as still alive at the time of the Muslim conquest of Palestine.
  3. According to Welch, Moussalli & Newby 2009, writing for the Oxford Encyclopedia of the Islamic World: "The Prophet of Islam was a religious, political, and social reformer who gave rise to one of the great civilizations of the world. From a modern, historical perspective, Muḥammad was the founder of Islam. From the perspective of the Islamic faith, he was God's Messenger (rasūl Allāh), called to be a "warner," first to the Arabs and then to all humankind."
  4. ดูกุรอาน 3:95
  5. See also อัลกุรอาน 43:31 cited in EoI; Muhammad.
  6. ดู:
    • Emory C. Bogle (1998), p. 7.
    • Rodinson (2002), p. 71.
  7. ดู:
  8. See for example Marco Schöller, Banu Qurayza, Encyclopedia of the Quran mentioning the differing accounts of the status of Rayhana
  9. ดู:
  10. ดู:

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Conrad 1987.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 267
  3. Welch, Moussalli & Newby 2009.
  4. 4.0 4.1 Esposito 2002, pp. 4–5.
  5. Esposito 1998, p. 9,12.
  6. "Early Years". Al-Islam.org (ภาษาอังกฤษ). 18 October 2012. สืบค้นเมื่อ 18 October 2018.
  7. 7.0 7.1 Watt 1974, p. 7.
  8. Howarth, Stephen. Knights Templar. 1985. ISBN 978-0-8264-8034-7 p. 199.
  9. 9.0 9.1 Muhammad Mustafa Al-A'zami (2003), The History of The Qur'anic Text: From Revelation to Compilation: A Comparative Study with the Old and New Testaments, pp. 26–27. UK Islamic Academy. ISBN 978-1-872531-65-6.
  10. Ahmad 2009.
  11. Peters 2003, p. 9.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 12.5 12.6 12.7 Buhl & Welch 1993.
  13. 13.0 13.1 Holt, Lambton & Lewis 1977, p. 57.
  14. 14.0 14.1 Lapidus 2002, pp. 31–32.
  15. Nasr, Seyyed Hossein (2007). "Qurʾān". Encyclopædia Britannica Online. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 May 2015. สืบค้นเมื่อ 24 September 2013.
  16. Living Religions: An Encyclopaedia of the World's Faiths, Mary Pat Fisher, 1997, p. 338, I.B. Tauris Publishers.
  17. อัลกุรอาน 17:106
  18. 18.0 18.1 Watt, William Montgomery (4 January 2024). "Muhammad". Encyclopædia Britannica Online. สืบค้นเมื่อ 4 February 2023.
  19. Bennett 1998, p. 18–19.
  20. Peters 1994, p. 261.
  21. Bora, Fozia (2015-07-22). "Discovery of 'oldest' Qur'an fragments could resolve enigmatic history of holy text". The Conversation (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2024-02-04.
  22. Lumbard, Joseph E. B. (24 July 2015). "New Light on the History of the Quranic Text?". Huffington Post. สืบค้นเมื่อ 24 March 2021.
  23. 23.0 23.1 Watt 1953, p. xi.
  24. Reeves, Minou (2003). Muhammad in Europe: A Thousand Years of Western Myth-Making. New York University Press. pp. 6–7. ISBN 0814775640.
  25. 25.0 25.1 Nigosian 2004, p. 6.
  26. Donner, Fred (1998). Narratives of Islamic Origins: The Beginnings of Islamic Historical Writing. Darwin Press. p. 132. ISBN 0878501274.
  27. Holland, Tom (2012). In the Shadow of the Sword. Doubleday. p. 42. ISBN 978-0-7481-1951-6. Things which it is disgraceful to discuss; matters which would distress certain people; and such reports as I have been told are not to be accepted as trustworthy – all these things have I omitted. [Ibn Hashim, p. 691.]
  28. Watt 1953, p. xv.
  29. Watt 1953, pp. 1–2.
  30. Watt 1953, pp. 16–18.
  31. Loyal Rue, Religion Is Not about God: How Spiritual Traditions Nurture Our Biological, 2005, p. 224.
  32. Ueberweg, Friedrich. History of Philosophy, Vol. 1: From Thales to the Present Time. Charles Scribner's Sons. p. 409. ISBN 978-1-4400-4322-2.
  33. Kochler, Hans (1982). The Concept of Monotheism in Islam and Christianity. International Progress Organization. p. 29. ISBN 3700303394.
  34. cf. Uri Rubin, Hanif, Encyclopedia of the Qur'an.
  35. Louis Jacobs (1995), p. 272
  36. Turner, Colin (2005). Islam: The Basics (Volume 1). Routledge. p. 16. ISBN 9780415341066.
  37. Robin 2012, pp. 297–299.
  38. 38.0 38.1 38.2 Robin 2012, p. 302.
  39. Robin 2012, pp. 286–287.
  40. Muhammad เก็บถาวร 9 กุมภาพันธ์ 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Encyclopedia Britannica. Retrieved 15 February 2017.
  41. Rodinson, Maxime (2002). Muhammad: Prophet of Islam. Tauris Parke Paperbacks. p. 38. ISBN 978-1-86064-827-4. สืบค้นเมื่อ 12 May 2019.
  42. Esposito 2003.
  43. Jean-Louis Déclais, Names of the Prophet, Encyclopedia of the Quran.
  44. Esposito 1998, p. 6.
  45. 45.0 45.1 Buhl & Welch 1993, p. 361.
  46. Rodinson 2021, p. 51.
  47. Marr J.S., Hubbard E., Cathey J.T. (2014): The Year of the Elephant. doi:10.6084/m9.figshare.1186833 Retrieved 21 October 2014 (GMT).
  48. 48.0 48.1 Reynolds 2023, p. 16.
  49. 49.0 49.1 Johnson 2015, p. 286.
  50. Peters 2010, p. 61.
  51. Muesse 2018, p. 213.
  52. (Gibb et al. 1986, p. 102)
  53. Meri, Josef W. (2004). Medieval Islamic civilization. Vol. 1. Routledge. p. 525. ISBN 978-0-415-96690-0. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 November 2012. สืบค้นเมื่อ 3 January 2013.
  54. 54.0 54.1 Watt 1971.
  55. Watt 1960.
  56. Abel 1960.
  57. 57.0 57.1 Watt 1974, p. 8.
  58. 58.0 58.1 Berkshire Encyclopedia of World History (2005), v. 3, p. 1025.
  59. Ali, Wijdan (August 1999). "From the Literal to the Spiritual: The Development of the Prophet Muhammad's Portrayal from 13th Century Ilkhanid Miniatures to 17th Century Ottoman Art" (PDF). Proceedings of the 11th International Congress of Turkish Art (7): 3. ISSN 0928-6802. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 3 December 2004.
  60. Glubb 2001, p. 79-81.
  61. Wensinck & Jomier 1990, p. 319.
  62. Bogle 1998, p. 6.
  63. John Henry Haaren, Addison B. Poland (1904), p. 83.
  64. Peterson 2007, p. 51.
  65. Klein 1906, p. 7.
  66. 66.0 66.1 Wensinck & Rippen 2002.
  67. Rosenwein 2018, p. 148.
  68. Brown 2003, p. 73.
  69. Buhl & Welch 1993, p. 363.
  70. Peterson 2007, p. 53–4.
  71. Murray 2011, p. 552.
  72. Rāshid 2015, p. 11.
  73. Watt, The Cambridge History of Islam (1977), p. 31.
  74. Brockopp 2010, p. 40–2.
  75. 75.0 75.1 Watt 1953, p. 86.
  76. Ramadan 2007, pp. 37–39.
  77. Buhl & Welch 1993, p. 364.
  78. Lewis 2002, p. 35–36.
  79. Muranyi 1998, p. 102.
  80. Gordon 2005, p. 120-121.
  81. 81.0 81.1 Phipps 2016, p. 40.
  82. 82.0 82.1 82.2 Brockopp 2010, p. 45–6.
  83. Glubb 2001, p. 113–4.
  84. Deming 2014, p. 68.
  85. Ibn Kathir & Gassick 2000, p. 342–3.
  86. Watt, The Cambridge History of Islam (1977), p. 36.
  87. Williams 2013, Prelude to the call.
  88. Lewis 2009, p. 73.
  89. 89.0 89.1 89.2 89.3 Watt 1953, p. 119.
  90. 90.0 90.1 Howard-Johnston 2010, p. 406.
  91. Rodgers 2012, p. 39.
  92. 92.0 92.1 Glubb 2001, p. 126.
  93. Buhl & Welch 1993, p. 364–5.
  94. Peters 1994, p. 173.
  95. Cheikh 2015, p. 32.
  96. Peters 1994, p. 173–4.
  97. 97.0 97.1 97.2 Buhl & Welch 1993, p. 365.
  98. Glubb 2001, p. 125–6, 129.
  99. Glubb 2001, p. 129.
  100. Lapidus 2012, p. 184.
  101. Rodinson 2021, p. 134.
  102. 102.0 102.1 Brown 2011, p. 22.
  103. 103.0 103.1 Rodinson 2021, p. 135.
  104. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Holt
  105. Towghi 1991, p. 572.
  106. Adil 2002, p. 145.
  107. Adil 2002, p. 145–6.
  108. Adil 2002, p. 146.
  109. Adil 2002, p. 148.
  110. Jonathan M. Bloom; Sheila Blair (2009). The Grove encyclopedia of Islamic art and architecture. Oxford University Press. p. 76. ISBN 978-0-19-530991-1. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 June 2013. สืบค้นเมื่อ 26 December 2011.
  111. Buhl & Welch 1993, p. 366.
  112. 112.0 112.1 Sells, Michael. Ascension, Encyclopedia of the Quran, vol.1, p.176.
  113. 113.0 113.1 Watt, The Cambridge History of Islam, p. 39
  114. Esposito (1998), p. 17
  115. Moojan Momen (1985), p. 5
  116. Rodgers 2012, p. 56–7.
  117. 117.0 117.1 Humphreys 1991, p. 92.
  118. Arjomand 2022, p. 111.
  119. Rubin 2022, p. 8.
  120. Watt 1956, p. 227.
  121. Fazlur Rahman (1979), p. 21
  122. John Kelsay (1993), p. 21
  123. William Montgomery Watt (7 February 1974). Muhammad: Prophet and Statesman. Oxford University Press. pp. 112–14. ISBN 978-0-19-881078-0. สืบค้นเมื่อ 29 December 2011.{{cite book}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  124. Rodinson (2002), p. 164
  125. Watt, The Cambridge History of Islam, p. 45
  126. Glubb (2002), pp. 179–86
  127. Lewis (2002), p. 41.
  128. Watt (1961), p. 123
  129. Rodinson (2002), pp. 168–69
  130. Lewis (2002), p. 44
  131. Zeitlin, Irving M. (2007). The Historical Muhammad. John Wiley and Sons. p. 148. ISBN 978-0-7456-5488-1.
  132. Faizer, Rizwi (2010). The Life of Muhammad: Al-Waqidi's Kitab al-Maghazi. Routledge. p. 79. ISBN 978-1-136-92113-1.
  133. Watt (1961), p. 132.
  134. Watt (1961), p. 134
  135. Lewis (1960), p. 45
  136. C.F. Robinson, Uhud, Encyclopedia of Islam
  137. Watt (1964), p. 137
  138. Watt (1974), p. 137
  139. David Cook (2007), p. 24
  140. See:
    • Watt (1981), p. 432
    • Watt (1964), p. 144
  141. Watt (1956), p. 30.
  142. Watt (1956), p. 34
  143. Watt (1956), p. 18
  144. Rubin, Uri (1990). "The Assassination of Kaʿb b. al-Ashraf". Oriens. 32 (1): 65–71. doi:10.2307/1580625. JSTOR 1580625.
  145. Watt (1956), pp. 220–21
  146. Watt (1956), p. 35
  147. 147.0 147.1 147.2 147.3 Buhl & Welch 1993, p. 370.
  148. Rodgers 2012, p. 142.
  149. Gabriel 2014, p. 132.
  150. Rodgers 2012, p. 143.
  151. Rodinson 2021, p. 209.
  152. Gabriel 2014, p. 136.
  153. Rodgers 2012, p. 145.
  154. Rodgers 2012, p. 148.
  155. Gabriel 2007, p. 138.
  156. Peters 2003b, p. 88.
  157. Glubb 2001, p. 265–6.
  158. 158.0 158.1 Glubb 2001, p. 267.
  159. 159.0 159.1 Rodinson 2021, p. 251–2.
  160. 160.0 160.1 160.2 160.3 Khan (1998), p. 274
  161. 161.0 161.1 161.2 Lings (1987), p. 291
  162. 162.0 162.1 Khan (1998), pp. 274–75
  163. Lings (1987), p. 292
  164. Watt (1956), p. 66.
  165. The Message by Ayatullah Ja'far Subhani, chapter 48 เก็บถาวร 2 พฤษภาคม 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน referencing Sirah by Ibn Hisham, vol. II, page 409.
  166. Rodinson (2002), p. 261.
  167. Harold Wayne Ballard, Donald N. Penny, W. Glenn Jonas (2002), p. 163
  168. F.E. Peters (2003), p. 240
  169. Guillaume, Alfred (1955). The Life of Muhammad. A translation of Ishaq's "Sirat Rasul Allah". Oxford University Press. p. 552. ISBN 978-0-19-636033-1. สืบค้นเมื่อ 8 December 2011. Quraysh had put pictures in the Ka'ba including two of Jesus son of Mary and Mary (on both of whom be peace!). ... The apostle ordered that the pictures should be erased except those of Jesus and Mary.
  170. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Rubin
  171. อัลกุรอาน 110:1
  172. Glubb 2001, p. 320–1.
  173. Glubb 2001, p. 321.
  174. Gabriel 2007, p. 181.
  175. Gabriel 2007, p. 182.
  176. Gabriel 2007, p. 186.
  177. Glubb 2001, p. 325.
  178. Rodgers 2012, p. 225.
  179. Rodinson 2021, p. 263–4.
  180. Glubb 2001, p. 326.
  181. Rodinson 2021, p. 264.
  182. Glubb 2001, p. 327.
  183. Glubb 2001, p. 328.
  184. Gabriel 2014, p. 189.
  185. Rodinson 2021, p. 274.
  186. Gabriel 2014, p. 191.
  187. Gabriel 2014, p. 192–4.
  188. Rodinson 2021, p. 274–5.
  189. Gabriel 2014, p. 192–3.
  190. M.A. al-Bakhit, Tabuk, Encyclopaedia of Islam.
  191. Rodgers 2012, p. 230.
  192. Gabriel 2007, p. 188.
  193. Rodgers 2012, p. 226.
  194. Rodinson 2021, p. 269.
  195. Gabriel 2007, p. 189.
  196. Glubb 2001, p. 344–5, 359.
  197. Gabriel 2014, p. 200.
  198. Glubb 2001, p. 358.
  199. Rodinson 2021, p. 285–6.
  200. Phipps 2016, p. 140.
  201. Gabriel 2014, p. 203.
  202. Rodinson 2021, p. 286.
  203. Rodinson 2021, p. 286–7.
  204. Glubb 2001, p. 360.
  205. Rodinson 2021, p. 287.
  206. Glubb 2001, p. 361.
  207. Katz 2022, p. 147.
  208. Glubb 2001, p. 283.
  209. Cole 1996, p. 268.
  210. Borup, Fibiger & Kühle 2019, p. 132.
  211. Ibn Kathīr 1998, p. 344.
  212. Buhl & Welch 1993, p. 374.
  213. Leila Ahmed (1986), 665–91 (686)
  214. 214.0 214.1 Peters 2003, p. 90.
  215. Ariffin, Syed Ahmad Iskandar Syed (2005). Architectural Conservation in Islam: Case Study of the Prophet's Mosque. Penerbit UTM. p. 88. ISBN 978-983-52-0373-2.
  216. "Prophet's Mosque". Archnet.org. 2 May 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 March 2012. สืบค้นเมื่อ 26 January 2012.
  217. "Isa", Encyclopaedia of Islam.
  218. Al-Haqqani, Shaykh Adil; Kabbani, Shaykh Hisham (2002). The Path to Spiritual Excellence. ISCA. pp. 65–66. ISBN 978-1-930409-18-7. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 September 2015.
  219. 219.0 219.1 Weston, Mark (2008). Prophets and princes: Saudi Arabia from Muhammad to the present. John Wiley and Sons. pp. 102–03. ISBN 978-0-470-18257-4. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 January 2016.
  220. 220.0 220.1 Behrens-Abouseif, Doris; Vernoit, Stephen (2006). Islamic art in the 19th century: tradition, innovation, and eclecticism. Brill. p. 22. ISBN 978-90-04-14442-2. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 September 2015.
  221. Weston, Mark (2008). Prophets and princes: Saudi Arabia from Muhammad to the present. John Wiley and Sons. p. 136. ISBN 978-0-470-18257-4. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 January 2016.
  222. Cornell, Vincent J. (2007). Voices of Islam: Voices of the spirit. Greenwood Publishing Group. p. 84. ISBN 978-0-275-98734-3. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 January 2016.
  223. Ernst, Carl W. (2004). Following Muhammad: Rethinking Islam in the contemporary world. Univ of North Carolina Press. pp. 173–74. ISBN 978-0-8078-5577-5. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 January 2016.
  224. Bennett 1998, p. 182–83.
  225. Clark, Malcolm (2011). Islam For Dummies. John Wiley and Sons. p. 165. ISBN 978-1-118-05396-6. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 September 2015.
  226. Esposito 1998, pp. 35–36.
  227. 227.0 227.1 Barbara Freyer Stowasser, Wives of the Prophet, Encyclopedia of the Quran.
  228. Subhani, Jafar. "Chapter 9". The Message. Ansariyan Publications, Qom. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 October 2010.
  229. Esposito (1998), p. 18.
  230. Bullough (1998), p. 119.
  231. Reeves (2003), p. 46.
  232. 232.0 232.1 Watt, Aisha, Encyclopaedia of Islam.
  233. Ramadan 2007, pp. 168–69.
  234. Asma Barlas (2002), p. 125.
  235. Armstrong (1992), p. 157.
  236. 236.0 236.1 Nicholas Awde (2000), p. 10.
  237. Ordoni (1990), pp. 32, 42–44.
  238. (Bearman et al. 2002, p. 475)
  239. Powers 2014, p. 100-101.
  240. "Slavery in Islam". BBC. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 June 2017. สืบค้นเมื่อ 16 April 2016.
  241. Farah (1994), p. 135.
  242. "Arabic Presentation Forms-A" (PDF). The Unicode Standard, Version 5.2. Mountain View, Ca.: Unicode, Inc. 1 October 2009. สืบค้นเมื่อ 9 May 2010.
  243. Esposito (1998), p. 12.
  244. Nigosian 2004, p. 17.
  245. Brockopp 2010, p. 39.
  246. 246.0 246.1 A.J. Wensinck, Muʿd̲j̲iza, Encyclopaedia of Islam. Vol. 7, p. 295
  247. Muhammad, Encyclopædia Britannica, p. 9.
  248. Suzanne Pinckney Stetkevych (24 May 2010). The mantle odes: Arabic praise poems to the Prophet Muḥammad. Indiana University Press. p. xii. ISBN 978-0-253-22206-0. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 June 2013. สืบค้นเมื่อ 27 January 2012.
  249. อัลกุรอาน 21:107
  250. Seyyed Hossein Nasr, Encyclopædia Britannica, Muhammad, p. 13.
  251. Ann Goldman, Richard Hain, Stephen Liben (2006), p. 212.
  252. Bennett 1998, p. 36.
  253. Gabriel 2014, p. 120.
  254. Rodinson 2021, p. 181.
  255. Gabriel 2014, p. 121.
  256. 256.0 256.1 256.2 Kees Wagtendonk (1987). "Images in Islam". ใน Dirk van der Plas (บ.ก.). Effigies dei: essays on the history of religions. Brill. pp. 119–24. ISBN 978-90-04-08655-5. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 June 2013. สืบค้นเมื่อ 1 December 2011.
  257. Esposito 2011, pp. 14–15.
  258. 258.0 258.1 Peters 2010, pp. 159–161.
  259. Safi, Omid (2 November 2010). Memories of Muhammad. HarperCollins. p. 32. ISBN 978-0-06-123135-3. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 June 2013. สืบค้นเมื่อ 29 December 2011.
  260. 260.0 260.1 Safi, Omid (5 May 2011). "Why Islam does (not) ban images of the Prophet". Washington Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 February 2012. สืบค้นเมื่อ 27 December 2011.
  261. 261.0 261.1 Freek L. Bakker (15 September 2009). The challenge of the silver screen: an analysis of the cinematic portraits of Jesus, Rama, Buddha and Muhammad. Brill. pp. 207–09. ISBN 978-90-04-16861-9. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 June 2013. สืบค้นเมื่อ 1 December 2011.
  262. Cambridge History of Islam (1970), p. 30.
  263. 263.0 263.1 263.2 Lewis (1998) เก็บถาวร 8 เมษายน 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  264. Islamic ethics, Encyclopedia of Ethics.
  265. Watt, The Cambridge History of Islam, p. 34.
  266. Esposito 1998, p. 30.
  267. Watt, The Cambridge History of Islam, p. 52.
  268. Warraq, Ibn (2007). Defending the West: A Critique of Edward Said's Orientalism. Prometheus Books. p. 147. ISBN 978-1-61592-020-4. Indeed, [Postel's] greater tolerance for other religions was much in evidence in Πανθενωδια: compostio omnium dissidiorum, where, astonishingly for the sixteenth century, he argued that Muhammad ought to be esteemed even in Christendom as a genuine prophet.
  269. 269.0 269.1 269.2 269.3 Brockopp 2010, p. 240–2.
  270. Talk Of Napoleon At St. Helena (1903), pp. 279–80.
  271. Brockopp 2010, p. 244.
  272. Younos, Farid (2010). Islamic Culture. Cambridge Companions to Religion. AuthorHouse. p. 15. ISBN 978-1-4918-2344-6.
  273. Carlyle, Thomas (1841). On heroes, hero worship and the heroic in history. London: James Fraser. p. 87.
  274. Kecia Ali (2014). The Lives of Muhammad. Harvard UP. p. 48. ISBN 978-0-674-74448-6. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 September 2015.
  275. Gottheil, Montgomery & Grimme 1906.
  276. Stillman 1979.
  277. 277.0 277.1 Goddard 2000.
  278. 278.0 278.1 Buhl & Welch 1993, pp. 360–376.
  279. 279.0 279.1 Quinn 2008.
  280. Curtis 2009.
  281. Cimino 2005.
  282. Willis 2013.
  283. Spellberg 1996.
  284. Smith, Peter (2000). "Manifestations of God". A concise encyclopedia of the Bahá'í Faith. Oxford: Oneworld Publications. p. 231. ISBN 1-85168-184-1.
  285. Buck, Christopher (2004). "The eschatology of Globalization: The multiple-messiahship of Bahā'u'llāh revisited". ใน Sharon, Moshe (บ.ก.). Studies in Modern Religions, Religious Movements and the Bābī-Bahā'ī Faiths. Boston: Brill. pp. 143–178. ISBN 90-04-13904-4. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  286. ปฐมธรรมาจารย์แห่งธรรมกาลยุคขาว, ศุภนิมิต แปลและเรียบเรียง, กรุงเทพฯ : ส่งเสริมคุณภาพชีวิต, ม.ป.ป.
  287. "皇母訓子十誡中英合編". Tao Library. สืบค้นเมื่อ 18 March 2014.
  288. "พระโอวาท"พระอนุตตรธรรมมารดาสิบบัญญัติ"". สังคมธรรมะออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 18 March 2014.

สารานุกรม

[แก้]

Encyclopaedia of Islam

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]