ข้ามไปเนื้อหา

ชาวไวกิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนที่แสดงการตั้งถิ่นฐานสแกนดิเนเวียของชาวไวกิง สีแดงเข้ม-ระว่าง ค.ศ.701-800, สีแดง-ระหว่าง ค.ศ. 801-900, สีส้มเข้ม-ระว่าง ค.ศ. 901-1000, และสีเหลือง-ระว่าง ค.ศ. 1001-1100, บริเวณสีเขียวแสดงพื้นที่ที่มักถูกโจมตีโดยพวกไวกิงบ่อยแต่ไม่มีการตั้งถิ่นฐานมาก

ไวกิง (อังกฤษ: Vikings) ในความหมายหลักหมายถึงชนเผ่านักรบ นักการค้า และนักตั้งถิ่นฐานจากนอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์ก ซึ่งบุกรบชนะ ยึดครอง และตั้งอาณานิคมอาณาเขตในส่วนใหญ่ของอังกฤษ นอร์ม็องดี และรัสเซียเมื่อระหว่างประมาณ ค.ศ. 657 - ค.ศ. 1047 นอกจากนี้ยังบุกจู่โจมสเปน โมร็อกโก และอิตาลี ติดต่อการค้ากับจักรวรรดิไบแซนไทน์ เปอร์เซีย และอินเดีย ชาวไวกิงยังได้ค้นพบและยึดครองไอซ์แลนด์ และกรีนแลนด์ เดินเรือไปถึงชายทวีปอเมริกาเหนืออีกด้วย

ชนเผ่านี้เป็นนักเดินเรือที่ชำนาญ กล้าที่จะนำเรือแล่นออกไปในมหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อหาหมู่เกาะเป็นดินแดนทำมาหากินให้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากการรบกวนของชนเผ่าอื่น ไวกิงจึงเป็นชาวยุโรปพวกแรกที่เดินเรือออกไปนอกทะเลลึก และลอยลำอยู่ท่ามกลางลูกคลื่นและแสงแดด มองไปรอบด้านจะเห็นแต่ขอบฟ้าและพื้นน้ำเท่านั้น แต่ในการค้นหาแผ่นดินใหม่ พวกไวกิงใช้วิธีปล่อยนกดุเหว่าที่นำติดไปกับเรือด้วยให้ออกจากกรงขัง เมื่อนกดุเหว่าหลุดออกจากกรงขัง มันจะโผบินเป็นวงกลมสูงขึ้นไปในอากาศ ถ้ามันบินกลับย้อนทางเดิม ก็หมายความว่าเบื้องหน้าต่อไปนั้นจะไม่มีแผ่นดินอยู่เลย แต่ถ้ามันบินพุ่งไปในทะเลทางทิศใดทิศทางหนึ่ง พวกไวกิงก็ทราบได้ทันทีว่า ทิศทางนั้นต้องมีผืนแผ่นดินอยู่ไกลลับสายตาเบื้องหน้าโน้น ซึ่งพวกเขาจะนำเรือออกค้นความจนพบดินแดนนั้นได้

ไวกิงได้ยกกองทัพบุกอังกฤษ ทางชายฝั่งนอร์ทัมเบรีย ตอนเหนือของประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 793 บุกเผาทำลายโบสถ์แห่งลินดิสฟาร์นและฆ่าพระบาทหลวงจนหมด ในอีกสองปีต่อมาก็ได้รุกลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่อังกฤษในพื้นที่ที่เป็นสกอตแลนด์ปัจจุบัน บุกโจมตีไอร์แลนด์และตั้งราชอาณาจักรไวกิงที่เมืองดับลิน ลิเมอริก และวอเตอร์ฟอร์ด แม้เมื่อแรกพวกไวกิงจะทำลายโบสถ์และฆ่าบาทหลวง แต่ในที่สุดชาวไวกิงได้เข้ารีตเป็นคริสต์ศาสนิกชน ไวกิงยึดครองเมืองต่าง ๆ ได้หลายเมือง กษัตริย์ไวกิงที่มีนามว่า แฮรัลด์ บลูทูท (Harald Bluetooth) ได้เข้าปกครองอังกฤษและไอร์แลนด์

ในปี ค.ศ. 874 เอริกเดอะเรด (Eric the Red) นักรบไวกิงผู้ถูกเนรเทศจากไอร์แลนด์ได้อพยพพาครอบครัวและเรือ 25 ลำเดินทางไปทาง ทิศตะวันตกและได้พบเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งทั้ง ๆ ที่เกาะกรีนแลนด์มีหิมะและน้ำแข็งปกคลุมคลอดทั้งปี แต่แอริคต้องการให้ชื่อเกาะดึงดูดนักผจญภัยอื่น ๆ เขาจึงตั้งชื่อเกาะที่พบว่า กรีนแลนด์ (ดินแดนสีเขียว)

ในปี ค.ศ. 985 เลฟ เอริกสัน (Leif Ericson) บุตรของเอริกเดอะเรด ได้รายงานการพบแผ่นดินที่นักประวัติศาสตร์ทุกวันนี้เชื่อว่าเป็นแลบราดอร์, นิวฟันด์แลนด์ และนิวอิงแลนด์ เพราะเลฟได้บรรยายว่าบนดินแดนใหม่นี้มีป่าไม้ ทุ่งข้าวสาลี และไร่องุ่น แต่ชาวไวกิงตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนใหม่นี้ได้ไม่นานก็ถูกชนพื้นเมืองรุกรานจนต้องอพยพกลับกรีนแลนด์ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เกิดก่อนที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จะพบอเมริกาประมาณ 500 ปี

เรือไวกิงที่แสดงในพิพิธภัณฑ์กรุงออสโล นอร์เวย์

ด้วยธรรมชาติของการเป็นนักจู่โจมทางเรือโดยทางทะเลซึ่งจะต้องเข้มแข็ง ดุดันและไม่กลัวอันตราย ชาวไวกิงจึงมีกิตติศัพท์หรือได้สมญาว่าเป็นพวกโหดเหี้ยมทารุณและเป็นนักทำลายล้าง แต่ในฐานะของพ่อค้าและนักปกครองอาณานิคม ชาวไวกิงนับได้ว่าเป็นผู้มีบทบาทและอิทธิพลสูงทางดีในด้านการพัฒนายุโรปยุคกลาง การตั้งถิ่นฐานโพ้นทะเลในยุคแรก ๆ ของชาวไวกิงได้แก่การตั้งเมือง "ออร์กนีย์" และที่หมู่เกาะ "เชตแลนด์" ซึ่งอยู่ในการปกครองของนอร์เวย์เรื่อยมาและสิ้นสุดเมื่อ ค.ศ. 1472

ช่วงเวลาที่นับเป็นยุคไวกิง อยู่ระหว่าง ค.ศ. 793 - ค.ศ. 1066 ซึ่งสิ้นสุดยุคประมาณระหว่างยุคเชียงแสนและหริภุญชัย หรือก่อนสถาปนาราชวงศ์พระร่วงโดยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ค.ศ. 1249) 183 ปี

ประวัติ

[แก้]

ยุคไวกิง

[แก้]
ชนเดนส์เดินเรือเพื่อรุกรานราชอาณาจักรอังกฤษ เอกสารตัวเขียนสีวิจิตรจากคริสต์ศตวรรษที่ 12 เรื่องปกิณกะของชีวิตแห่งนักบุญเอ็ดมันด์ (ห้องสมุดเพียร์พอนต์ มอร์แกน)

จากบันทึก ในช่วงเวลาคริสต์ทศวรรษ 790 จนถึงการพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มันในปี ค.ศ. 1066 ถือว่าเป็นยุคไวกิงในประวัติศาสตร์ของสแกนดิเนเวีย[1] ชาวไวกิงได้ใช้ทะเลนอร์วีเจียนและทะเลบอลติกเป็นเส้นทางมุ่งสู่ทางใต้และแผ่อิทธิพลลงมาถึงดัชชีนอร์ม็องดีช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 ก่อนสืบเชื้อสายกลายเป็นชาวนอร์มัน สำหรับผู้สืบเชื้อสายไวกิงที่งมีอิทธิพลในยุโรปเหนือในยุคนั้น ได้แก่ พระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสัน กษัตริย์แองโกล-แซกซันองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรอังกฤษผู้มีบรรพบุรุษเป็นชาวเดนมาร์ก และสองชาวไวกิงที่ขึ้นครองบัลลังก์ราชอาณาจักรอังกฤษ พระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดผู้ครองบัลลังก์ราชอาณาจักรอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 1013-1014 และพระราชโอรส พระเจ้าคนุตมหาราชผู้ครองบัลลังก์ราชอาณาจักรอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 1016-1035[2][3][4][5][6]

ในเชิงภูมิศาสตร์ ยุคไวกิงไม่เพียงจำกัดอยู่ในดินแดนสแกนดิเนเวีย (ประเทศเดนมาร์ก, ประเทศนอร์เวย์ และประเทศสวีเดน) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงดินแดนเขตปกครองเจอร์แมนิกเหนือ เดนลอว์ สแกนดิเนเวียนยอร์ก ศูนย์กลางการปกครองที่เหลืออยู่ของราชอาณาจักรนอร์ทัมเบรีย[7] บางส่วนของราชอาณาจักรเมอร์เซีย และราชอาณาจักรอีสต์แองเกลีย[8] นอกจากนี้ ชาวไวกิ้งยังได้เปิดหนทางใหม่สู่ดินแดนตอนเหนือ ตะวันตก และตะวันออกส่งผลให้เกิดการตั้งถิ่นฐานเป็นอิสระขึ้นในเชทแลนด์ ออร์กนีย์ และ หมู่เกาะแฟโรในประเทศไอซ์แลนด์ กรีนแลนด์[9] และแลนโซเมโดส์ มีการตั้งถิ่นฐานในช่วงเวลาสั้น ๆ ในรัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์[10] ซึ่งอาจเป็นความบังเอิญโดยไม่ตั้งใจของลูกเรือ และนิคมกรีนแลนด์อาจถูกทิ้งร้างเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ[11] ราชวงค์ชาวไวกิง รูลิค (Rurik) ได้ครองดินแดนสลาฟและเขตปกครองฟินโน-ยูกริกในยุโรปตะวันออกและผนวกเคียฟในปี ค.ศ. 882 ภายใต้จักรวรรดิเคียฟรุส[12]

ต้นยุคราวปี ค.ศ. 839 เมื่อทูตชาวสวีเดนได้เข้าไปเจริญสัมพันธไมตรีครั้งแรกในบิแซนเทียม ช่วงนั้นชาวสแกนดิเนเวียเป็นทหารรับจ้างของจักรวรรดิไบแซนไทน์[13] ตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 หน่วยองครักษ์แห่งจักรวรรดิหน่วยใหม่ได้ถูกจัดตั้งขึ้นซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวสแกนดิเนเวีย รู้จักกันชื่อองครักษ์วารันเจียน คำว่า วารันเจียน (Varangian) อาจมาจากภาษานอร์สโบราณซึ่งหมายถึงคือชาวไวกิงและชาวนอร์ส แต่ในภาษาสลาฟและกรีกอาจหมายถึงชาวสแกนดิเนเวียหรือชาวแฟรงค์ ชาวสแกนดิเนเวียที่มีชื่อเสียงที่สุดในองครักษ์วารันเจียนคือฮาร์รัลด์ ฮาร์ดราด้า ผู้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งนอร์เวย์ (ค.ศ. 1047–66)

มีหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งบอกว่าชาวไวกิงเดินทางถึงแบกแดด เมืองหลวงแห่งจักรวรรดิอับบาซียะฮ์[14] ชาวนอร์สได้ใช้แม่น้ำวอลกาเป็นเส้นทางในการแลกเปลี่ยนสินค้า เช่น ขนสัตว์ เขี้ยว งา ไขมันผนึกเรือ และทาส เป็นประจำ ท่าเรือที่สำคัญในช่วงเวลานี้ได้แก่ เบียงกา (Birka) เฮียดบี (Hedeby) คุยปัง (Kaupang) จอร์วิก (Jorvik) สตาราเฮีย ลาโดกา (Staraya Ladoga) นอฟโกรอด (Novgorod) และ เคียฟ

อาจกล่าวได้ว่า ชาวนอรเวย์ได้แผ่ขยายเข้าไปตั้งถิ่นฐานถึงทางเหนือและตะวันตก เช่น ประเทศไอร์แลนด์ สก็อตแลนด์ ไอซ์แลนด์ และกรีนแลนด์ ชาวเดนมาร์กไปถึงในอังกฤษและฝรั่งเศส ได้ตั้งถิ่นฐานในเดนลอว์ (ภาคเหนือและภาคตะวันออกของอังกฤษ) และแคว้นนอร์ม็องดี และชาวสวีเดนได้ไปถึงตะวันออก พบว่าแผ่ขยายไปถึงจักรวรรดิเคียฟรุส พบว่ามีอักษรรูนของคณะเดินทางชาวสวีเดนได้กล่าวถึงการบุกและการท่องไปถึงยุโรปตะวันตก ตามตำนานเรื่องเล่าของไอซ์แลนด์ไวกิงชาวนอรเวย์ได้เดินทางไปยุโรปตะวันออกด้วยเช่นกัน ในยุคไวกิง ประเทศนอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์กยังไม่มีตัวตน ชาวไวกิงส่วนใหญ่หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน มีความคล้ายคลึงกันในวัฒนธรรมและภาษาแม้จะมีความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ ชื่อกษัตริย์สแกนดิเนเวียเป็นที่รู้จักเฉพาะหลังยุคไวกิ้งเท่านั้น หลังจากสิ้นสุดยุคไวกิง ดินแดนจึงได้แบ่งเป็นอาณาจักรต่าง ๆ อย่างช้า ๆ ตามสถานะที่แตกต่างกันไปในฐานะประเทศไปพร้อมกับการเข้ารีตเป็นคริสเตียน ดังนั้นการสิ้นสุดของยุคไวกิงสำหรับชาวสแกนดิเนเวียจึงเป็นจุดเริ่มต้นของยุคกลางของพวกเขา

การขยายอาณาเขตของชาวไวกิง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Peter Sawyer, The Viking Expansion, The Cambridge History of Scandinavia, Issue 1 (Knut Helle, ed., 2003), p.105.
  2. Lund, Niels (2001). "The Danish Empire and the End of the Viking Age", The Oxford Illustrated History of the Vikings. Ed. P. H. Sawyer. Oxford University Press, 2001, p. 167–181. ISBN 0-19-285434-8.
  3. The Royal Household, "Sweyn" เก็บถาวร 2014-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The official Website of The British Monarchy, 15 March 2015, accessed 15 March 2015
  4. Lawson, M K (2004). "Cnut: England's Viking King 1016-35". The History Press Ltd, 2005, ISBN 978-0582059702.
  5. The Royal Household, "Canute The Great" เก็บถาวร 2014-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The official Website of The British Monarchy, 15 March 2015, accessed 15 March 2015
  6. Badsey, S. Nicolle, D, Turnbull, S (1999). "The Timechart of Military History". Worth Press Ltd, 2000, ISBN 1-903025-00-1.
  7. "History of Northumbria: Viking era 866 AD–1066 AD" www.englandnortheast.co.uk.
  8. Toyne, Stanley Mease. The Scandinavians in history Pg.27. 1970.
  9. The Fate of Greenland's Vikings เก็บถาวร 2012-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, by Dale Mackenzie Brown, Archaeological Institute of America, 28 February 2000
  10. Langmoen IA (4 April 2012). "The Norse discovery of America". Neurosurgery. 57: 1076–87, discussion 1076–87. PMID 16331154.
  11. Ross, Valerie (31 May 2011). "Climate change froze Vikings out of Greenland". Discover. Kalmback Publishing. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-30. สืบค้นเมื่อ 6 April 2013.
  12. Rurik Dynasty (medieval Russian rulers) Britannica Online Encyclopedia
  13. Hall, p. 98
  14. "Vikings' Barbaric Bad Rap Beginning to Fade". News.nationalgeographic.com. 28 October 2010. สืบค้นเมื่อ 21 May 2012.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]