ข้ามไปเนื้อหา

คลังสินค้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คลังสินค้าของบริษัท กรีน ลอจิสติกส์ ประเทศฟินแลนด์

คลังสินค้า (อังกฤษ: warehouse) หรือ โรงเก็บสินค้า หรือ โกดัง[1] คือ อาคารทางพาณิชย์ที่ใช้สำหรับเก็บสินค้าเพื่อรอการขนส่ง คลังสินค้าถูกใช้โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ค้าส่ง ธุรกิจขนส่ง ศุลกากร ฯลฯ คลังสินค้ามักจะเป็นอาคารธรรมดาหลังใหญ่และกว้างตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมในตัวเมือง ภายในอาคารมีทางลาดเอียงสำหรับขนถ่ายสินค้าขึ้นหรือลงรถ หรือบางครั้งคลังสินค้าใช้รับถ่ายสินค้ามาจากสถานีรถไฟ สนามบิน หรือท่าเรือโดยตรง และมักจะมีเครนหรือฟอร์กลิฟต์เพื่อเคลื่อนย้ายสินค้าที่วางอยู่บนแท่นวางสินค้า (pallet) ขนาดมาตรฐาน ISO

สินค้าที่เก็บอาจเป็นชนิดใดก็ได้เช่น วัตถุดิบ วัสดุบรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนอะไหล่ ส่วนประกอบต่าง ๆ หรือสินค้าสำเร็จรูปเกี่ยวกับเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หรือพาณิชยกรรม มีระบบการบริหารจัดการสินค้าคงคลังเพื่อระบุตัวสินค้า เพื่อจำแนกหมวดหมู่ และเพื่อให้ทราบว่ามีสินค้าเท่าใด รับเข้าและส่งออกปริมาณเท่าใดในแต่ละช่วงเวลา

วิวัฒนาการของคลังสินค้า

[แก้]

คลังสินค้ามีวิวัฒนาการมายาวนาน โดยเริ่มจากแนวคิดการเก็บรักษาอาหารและวัตถุดิบในครัวเรือน ก่อนพัฒนาสู่การเก็บรักษาวัตถุดิบและสินค้าเพื่อรอการผลิตและจำหน่าย สำหรับประเทศไทย วิวัฒนาการของคลังสินค้าเริ่มมีความสำคัญเมื่อชาวต่างชาติจากยุโรปและอเมริกาเข้ามามีบทบาทด้านการค้า โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้ เศรษฐกิจและการค้าของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูง สินค้าเริ่มมีการเคลื่อนย้ายจากท้องถิ่นหนึ่งสู่อีกท้องถิ่นหนึ่ง พัฒนาไปสู่การค้าระหว่างเมืองและระหว่างประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตและการค้าเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตจึงเริ่มเห็นความสำคัญของระบบการจำหน่ายสินค้าและการจัดการวัตถุดิบตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่การป้อนวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตจนกลายเป็นสินค้าสำเร็จรูป

ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่การแสวงหาวิธีการจัดการที่ดีเกี่ยวกับวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องเก็บรักษาเพื่อรอการจำหน่าย เมื่อผู้ประกอบการไม่สามารถหาวิธีการที่ดีในการจัดการกับปัจจัยดังกล่าวได้ จึงเกิดแนวคิดในการจัดการคลังสินค้า ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งในระบบการผลิตสินค้า ส่งผลต่อการให้บริการลูกค้าที่ดี และยังหมายถึงการใช้ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ประเภทของคลังสินค้า

[แก้]

คลังสินค้ามีหลายประเภท แต่ละประเภทเหมาะกับธุรกิจและสินค้าที่ต่างกันออกไป คลังสินค้าสามารถแบ่งประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

  1. คลังสินค้าทั่วไป เหมาะกับการเก็บสินค้าทั่วไป เช่น ข้าวของเครื่องใช้ สินค้าสำเร็จรูป อะไหล่ต่างๆ ที่ไม่ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ
  2. คลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ สำหรับเก็บสินค้าที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ เช่น ยา หรือสารเคมีบางชนิด
  3. คลังสินค้านิรภัย ใช้เก็บสินค้าที่มีมูลค่า เช่น ทองคำ เอกสารสำคัญ
  4. คลังสินค้าของสด จะมีการควบคุมอุณหภูมิเพื่อการรักษาความสดของสินค้า เพราะสินค้าที่เก็บจะเป็นประเภทของสด มีอายุไม่ยาวนาน เช่น ผักผลไม้ อาหารทะเล เป็นต้น
  5. คลังสินค้าอันตราย ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เหมาะกับการเก็บสินค้าที่เป็นวัตถุอันตราย เช่น เชื้อเพลิง สารเคมี วัตถุไวไฟ วัตถุระเบิด สารพิษต่างๆ มีระบบการจัดการที่เข้มงวด

วัตถุประสงค์ของคลังสินค้า

[แก้]
  1. คลังสินค้าทั่วไป เป็นคลังสินค้าสำหรับเก็บสินค้า เพื่อความต้องการของธุรกิจในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การผลิต การบริการ การขาย โดยสินค้าที่ออกจากคลังจะยังไม่ถึงมือลูกค้าโดยตรง จะต้องผ่านการจัดการอีกทอดหนึ่ง เช่นการแปรรูป การขายปลีก
  2. คลังสินค้าออนไลน์ เป็นคลังสินค้าสำหรับเก็บสินค้า ที่พร้อมสำหรับการขายปลีก สินค้าที่ออกจากคลังสินค้า จะอยู่ในรูปแบบที่ส่งถึงมือผู้บริโภคโดยตรง โดยไปรษณีย์หรือขนส่ง
คลังสินค้า

อุปกรณ์ที่ใช้ในคลังสินค้า

[แก้]

คลังสินค้าเกือบทั้งหมด จะต้องมีอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อการประกอบการคลังสินค้า[2]

  • ชั้นวางสินค้า
  • ตะแกรงเหล็กพับได้
  • รถเข็นตะแกรงเหล็ก
  • เครื่องปริ้นสติกเกอร์
  • พาเลทพลาสติก
  • เครื่องชั่งน้ำหนัก
  • ถุงไปราณีย์
  • กล่องอะไหล่


ระบบจัดการคลังสินค้า

[แก้]

Warehouse Management System (WMS) คือระบบการจัดการจัดการคลังสินค้าแบบครบวงจร ทั้งในเรื่องของการรับสินค้าเข้า การจัดส่ง รวมทั้งอื่นๆที่ในขั้นตอนการจัดการของคลังสินค้า โดยจะสามารถแจกแจงเป็นระบบย่อยๆได้ดังนี้

  1. ระบบรับสินค้าเข้า คือ การบันทึกข้อมูลการเคลื่อนไหวของสินค้า เช่น จำนวนสินค้าที่อยู่ในคลัง มูลค่า หรือตำแหน่งของสินค้า ทำให้รู้จำนวนของสินค้าที่แน่ชัดในการเคลื่อนย้ายจากต้นทางมาปลายทาง
  2. ระบบจัดการเอกสาร คือ ระบบที่จะสรุปข้อมูลของเอกสารต่างๆที่ใช้ภายในคลังสินค้า เช่น ใบส่งของ ใบเสร็จ ใบรายการสินค้า ใบเบิกสินค้า ทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบ และการนำข้อมูลไปใช้
  3. ระบบจัดการสินค้าคงคลัง คือ ระบบที่ช่วยให้มองเห็นภาพรวมการเคลื่อนไหวของสินค้า ว่ามีสินค้าใดขาด ต้องเพิ่มจำนวนสินค้าใด ทำให้สามารถวางแผนได้อย่างถูกต้อง
  4. ระบบจัดการขนส่ง คือ ระบบที่ช่วยบริหารการขนส่ง ทั้งตรวจสอบสถานะ วางแผนเส้นทาง ยืนยันการรับสินค้า บันทึกรายรับรายจ่าย รวมถึงการรับชำระเงิน ช่วยให้การขนส่งมีแผนการที่เป็นระบบ รัดกุม สร้างความพอใจให้กับลูกค้า และการสรุปข้อมูลต่างๆทำให้สามารถนำไปวิเคราะห์วางแผนต่อได้
  5. ระบบโอนย้ายสินค้า คือ ระบบที่ช่วยจัดการการโอนย้ายจากคลังหนึ่งไปยังคลังหนึ่ง โดยจะช่วยจัดการตั้งแต่การสร้างรายการที่ต้องการโอนย้าย การโอนย้าย ส่งใบแจ้งสินค้าที่โอนย้าย ไปจนถึงการรับสินค้าของคลังปลายทาง
  6. ระบบหน่วยนับสินค้า คือ ระบบที่ช่วยในการกำหนดหน่วยในการนับสินค้า ช่วยลดความซับซ้อนในการนับ เช่น ในหนึ่งหน่วยสินค้าอาจมีสินค้าเพียงชิ้นเดียว หรือหนึ่งหน่วยสินค้าอาจมีสินค้าหลายชิ้น ระบบการจัดการหน่วยนับสินค้าจะช่วยจัดการให้แม่นยำ และสามารถหยิบสินค้าได้ถูกต้อง
  7. ระบบรายงานและสรุปภาพรวม คือ ระบบที่ช่วยให้เห็นภาพรวมของคลังสินค้า เพื่อช่วยในการบริหาร โดยจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากระบบคลังสินค้าอื่นๆ และสรุปรายงานเพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด และสามารถนำไปวางแผนต่อได้

อ้างอิงและเชิงอรรถ

[แก้]
  1. โกดัง หรือ กุดัง มาจากภาษามลายู gudang (พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน) ส่วนภาษาอังกฤษสะกดว่า godown
  2. อุปกรณ์คลังสินค้า